บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ October 5, 2023
ท่อประปา แตกจากสาเหตุบ้านทรุดตัว ซ่อมได้ไม่ยาก คุณเองก็ทำได้
ท่อประปา แตกจากสาเหตุบ้านทรุดตัว เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เจ้าของบ้านหลายท่านคงจะหวั่นวิตกและไม่อยากจะพบ ปัญหาอันเกิดจากโครงสร้างบ้านทรุดตัว บางครั้งอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบกับภาพใหญ่เช่นบ้านพังหรือทรุดตัวลงมาจนเห็นได้อย่างชัดเจน แต่กลับส่งผลกระทบไปยังจุดเล็กๆเช่น ท่อน้ำแตกร้าว หรือ ท่อประปา รั่วซึมที่บริเวณข้อต่อ เพราะเวลาที่โครงสร้างมีการขยับตัวจากสาเหตุต่างๆท่อประปาที่ทำมาจากท่อพีวีซี และข้อต่อมักจะเกิดการขยับตัวหรือคลายตัวจนทำให้เกิดการรั่วซึม หรือบางทีอาจจะถูกกดทับจนแตกร้าว ถ้าเจ้าของบ้านไม่หมั่นตรวจสอบหรือสังเกตบ่อยๆก็จะไม่ทราบว่าท่อน้ำมีการแตกร้าวและรั่วซึม ยิ่งถ้าเป็นท่อที่อยู่ในโครงสร้างบ้านเราจะตรวจสอบได้ยากว่าเกิดการรั่วซึมตรงบริเวณไหน นอกเสียจากว่าจะสังเกตจากปริมาณการใช้น้ำประปาในแต่ละเดือนถ้ามีแนวโน้มค่าน้ำที่สูงขึ้นเราสามารถสันนิษฐานในเบื้องต้นได้เลยว่าท่อน้ำมีปัญหาอย่างแน่นอน หรือหากเป็นท่อน้ำทิ้ง ก่อนที่จะถูกปล่อยให้ลงบ่อบำบัด เมื่อน้ำเสียไม่สามารถที่จะระบายออกตามท่อได้อย่างปกติก็จะส่งกลิ่นเหม็นย้อนกลับมาทางรูระบายต่างๆที่น้ำสามารถย้อนกลับมาได้ เช่น รูระบายน้ำในอ่างล้างจาน รูระบายน้ำทิ้งบริเวณพื้นห้องน้ำ ซึ่งวิธีการซ่อมแซมบ้านด้วยตัวเอง จากสาเหตุท่อน้ำแตกจทำให้โครงสร้างทรุดตัวมีวิธีการดังต่อไปนี้
1.หากเราสำรวจแล้วพบว่ามีรอยรั่วซึมของน้ำบนพื้น (หรือผนัง)
ให้ใช้ค้อนหรือสว่านไฟฟ้าแบบเจาะกระแทกเข้าไปเพื่อสกัดไปบนพื้นผิว โดยค่อยๆเจาะไปตามแนวท่อ แต่ควรระมัดระวังไม่ให้กระทบกระเทือนโครงสร้าง ซึ่งหากกังวลว่าโครงสร้างข้างเคียงจะเกิดความเสียหายไปด้วย ก็เลือกใช้เป็นเครื่องตัดไฟเบอร์ในการเปิดพื้นผิวแทน แต่ข้อเสียของการใช้ไฟเบอร์จะทำให้เกิดฟุ้งกระจายขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการควบคุมฝุ่นละอองและความสะอาด ถ้าจำเป็นต้องใช้วิธีนี้จริงๆก็ควรที่หาผ้าพลาสติกมารองที่บริเวณที่เราจะทำการตัด และพรมน้ำช่วยที่บริเวณรอบๆ เพราะอย่างน้อยก็ยังสามารถป้องกันฝุ่นละอองต่างๆไม่ให้ฟุ้งกระจายออกไปทั่วบ้านได้บ้าง
2.เมื่อเราเปิดพื้นผิวคอนกรีตขึ้นมาแล้วก็จะพบจุดที่รั่วซึม
ให้ทำการตัดต่อท่อพีซีซีส่วนที่เสียแตกชำรุดทิ้งแล้วดำเนินการต่อใหม่ แต่ถ้าเราประเมินแล้วว่าโครงสร้างบ้านอาจจะยังคงมีการทรุดตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการใช้วิธีเดินท่อพีวีซีใหม่ ก็คงไม่ได้ช่วยเพราะปัญหาเดิมก็ยังคงเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ซึ่งเราสามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนไปใช้เป็นท่อพีอีแทน เพราะท่อพีอีจะมีความแข็งแรงทนทานกว่า แต่ให้ความยืดหยุ่นมากกว่าและสามารถที่จะโค้งงอได้อย่างอิสระ ถึงแม้ว่าโครงสร้างจะเกิดการทรุดตัวขึ้น ท่อพีอีก็จะยืดหยุ่นตัว ไม่แตกหักหรือเกิดการคลายตัวบริเวณข้อต่อเหมือนกับการใช้ท่อพีวีซี
3.หลังจากทำการต่อท่อใหม่เรียบร้อยแล้ว
ก็ลองทดสอบปล่อยน้ำเข้าท่อประมาณ 2-3 วัน เพื่อเช็คให้แน่ใจก่อนว่า จุดที่ได้ทำการซ่อมแซมไปเรียบร้อยแล้วนั้น จะไม่มีการรั่วซึมออกมาอีก เมื่อแน่ใจแล้ว ก็ให้ใช้ปูนที่เป็นประเภทที่เหมาะสำหรับใช้งานซ่อมแซมอุดฉาบ ทำการฉาบเพื่อตกแต่งพื้นผิวผนังที่เราได้ทำการสกัดไว้ให้เรียบร้อย
แต่ถ้าหากว่าปัญหาของท่อน้ำแตกไม่ได้เกิดขึ้นที่บริเวณท่อน้ำดี แต่กลายเป็นว่าไปแตกรั่วที่บริเวณท่อน้ำทิ้ง ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าน้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมาจะส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วบริเวณ ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันกลิ่นรบกวนเหล่านี้ จึงควรที่จะติดตั้งอุปกรณ์ดับกลิ่นพีแทรฟ (P-Trap) หรือถ้วยดักกลิ่น โดยมีขั้นตอนการติดตั้งดังนี้
1.พีแทรฟ (P-Trap) คืออุปกรณ์ที่ได้ถูกออกแบบมาให้ไว้สำหรับน้ำสามารถไปขับอยู่ระหว่างสุขภัณฑ์กับท่อน้ำทิ้ง เพื่อที่จะได้เป็นตัวช่วยในการป้องกันกลิ่น ซึ่งปัจจุบันนี้สุขภัณฑ์บางประเภทเองก็จะมีอุปกรณ์ดักกลิ่นภายในตัวเป็นแบบสำเร็จรูปมาให้อยู่แล้ว แต่ว่าถ้าหากสุขภัณฑ์ที่เราใช้ภายในบ้านไม่มีอุปกรณ์ดักกลิ่นมาให้ ก็แก้ไขได้ด้วยการติดพีแทรฟเข้าไปเพื่อที่จะได้ช่วยป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้
2.ถ้วยดักกลิ่น คืออุปกรณ์ที่จะช่วยดักกลิ่นที่จะย้อนกลับ โดยมีหลักการเดียวกับการใช้พีแทรฟ แต่วิธีการติดตั้งก็แค่ติดไปที่กับรูระบายน้ำทิ้งที่อยู่บนพื้นห้องน้ำหรือตามพื้นที่ซักล้างภายในบริเวณบ้าน ก็จะช่วยดักกลิ่นที่น้ำเสียได้อีกทางหนึ่ง
การซ่อมแซมท่อน้ำที่แตกร้าวจากปัญหาของโครงสร้างทรุดตัว บางครั้งก็ไม่จบสิ้นในทีเดียวเพราะถ้าเรายังไม่ได้เข้าไปแก้ที่ต้นเหตุ ก็ย่อมเจอผลกระทบแบบนี้ไปอีกเรื่อยๆ พอซ่อมแล้วระยะเวลาผ่านไปไม่นานก็เป็นขึ้นมาอีก โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยง ฉะนั้นในบางจุดอาจจะต้องพิจารณาประกอบการตัดสินใจดูว่าจะทำเป็นวิธีการเดินท่อลอยเฉพาะจุดที่เป็นปัญหาเลยดีหรือไม่ เพราะถึงแม้จะทำให้บริเวณนั้นดูไม่สวยงาม แต่เราก็สามารถที่จะตกแต่งหรือหาอะไรมาปิดทับได้ ที่สำคัญยังช่วยให้เราสามารถสังเกตความผิดปกติได้ง่ายๆ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ต้องเสียไปกับการคอยซ่อมแซมท่อน้ำแตกร้าวได้อีกด้วยค่ะ
ปัญหาบ้านทรุดตัว มีวิธีป้องกันอย่างไรได้บ้าง?
การทรุดตัวของผืนดินเป็นปัญหาใหญ่ที่บ้านทรุดต้องกุมขมับ และเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่าพื้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นพื้นที่แอ่งกะทะที่มีการทรุดตัวของผืนดินอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังนั้นเราต้องหาวิธีแก้ไขปัญหานี้โดยการรู้สาเหตุและแก้ไขปัญหาตรงจุดมากที่สุด ดังนั้นสำหรับการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับบ้านทรุด สามารถเริ่มทำได้กับหลากหลายวิธีด้วยกัน รวมถึงวิธีแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาบ้านทรุดตัวแล้ว วิธีป้องกันและวิธีแก้ไขก็จะมีเทคนิคที่คล้ายๆ กัน โดยจะมีดังนี้
1. เพิ่มเสาเข็มรองรับที่
การสร้างเสาเข็มให้มีความยาวใกล้เคียงกับตัวบ้านเพื่อให้ทรุดตัวพร้อมกันกับที่จอดรถเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นและอาจเกิดรอยแตกขึ้นจากถนนทรุดตัว ต้องแก้ไขด้วยการทำทางลาด (Ramp) อีกด้วย
2. พื้นที่โรงจอดรถควรลงเสาเข็มแบบปูพรม
ในการสร้างโรงจอดรถที่ติดกับบ้านควรใช้เสาเข็มสั้นเพื่อช่วยชะลอการทรุดตัวของพื้นที่จอดรถได้ช้าขึ้น โดยการตัดรอยแยกที่ต่อระหว่างพื้นที่โครงสร้างที่วางบนคานและพื้นโครงสร้างที่วางบนดิน โดยการโรยกรวดหรือใช้วัสดุอุดรอยต่อ เช่น PU หรือซิลิโคน เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด
3. ลงดินให้แน่นเพื่อทำพื้นที่โรงจอดรถ
วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างพื้นที่จอดรถคือการไม่ใช้เสาเข็มหรือโครงสร้าง แต่ใช้การบดอัดดินให้แน่นแล้วทำการเทพื้นโรงจอดรถ แล้วจึงตัดแยกโครงสร้างสำหรับจอดรถและพื้นที่โครงสร้างโดยรอบ
วิธีป้องกัน และการแก้ไขปัญหาพื้นรองบ้านทรุดตัว
พื้นรอบบ้านทรุดตัวต่ำกว่าระดับคานบ้านจะส่งผลให้เกิดโพรงใต้บ้านเป็นช่องโหว่งมากขึ้น ทำให้ดูไม่สวยงามและเป็นช่องทางให้สัตว์ต่างๆเข้ามาซ่อนตัว ดังนั้นควรหาวิธีปิดโพรงใต้ให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อสมาชิกในบ้าน และเมื่อต้องการปิดโพรงใต้บ้าน ควรดูแนวโน้มการทรุดก่อน และหากพื้นทรุดมานานไม่เกิน 10 ซ.ม. ใน 1 ปี สำหรับวิธีแก้ปัญหาพื้นบ้านทรุด ให้ปรับระดับพื้นดินเพิ่มโดยการถมพื้นให้สูงขึ้นจนเลยโพรงใต้บ้าน แต่ถ้ามีวัสดุปูทับหน้าพื้นอยู่ ให้รื้อออกก่อนแล้วถมทรายและดินให้ได้ตามระดับที่ต้องการ บดอัดให้แน่น จากนั้นก็เตรียมพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อนจะปูบล็อกกลับไปตามเดิมอีกครั้ง และหากต้องการเพิ่มระดับพื้นในที่ทำงาน
ถ้าพื้นเดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล) ให้วางตะแกรงเหล็กแล้วเทคอนกรีตทับเพื่อเพิ่มระดับ และตกแต่งผิวหน้าตามใจชอบ เช่น คอนกรีตพิมพ์ลาย ปูบล็อกคอนกรีต ปูกระเบื้อง เป็นต้น แต่ถ้าพื้นเดิมเสียหายแตกร้าว ก็ต้องทุบแล้วรื้อออก หลังจากนั้นถมทรายให้ได้ระดับก่อนเทคอนกรีต หรือจะเปลี่ยนเป็นตกแต่งอย่างอื่น เช่น ปูหญ้า วางบล็อกคอนกรีตเสริมเป็นลวดลายแทน และหากใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ใช่แค่ทางเดินทั่วไป เช่น พื้นลานซักล้าง พื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน ควรลงเสาเข็มแบบฐานเข็มปูพรมด้วย เพื่อป้องกันการทรุดตัวลงในอนาคต แต่อย่าลืมว่าพื้นที่ใต้บริเวณนี้จะต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง เช่น อุปกรณ์งานระบบอย่างถังน้ำ ถังดักไขมัน เป็นต้น
ปัญหาที่เกิดจากพื้นบ้านทรุดตัว หรือพื้นที่ในส่วนอื่นมีการทรุดตัวหรือเกิดเป็นโพรง ปัญหานี้จะส่งผลกระทบให้กับตัวบ้านได้อย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระบบน้ำประปา หากมีการวางท่อไว้ในจุดที่ใกล้กับพื้นที่ของบ้านที่มีการทรุดตัว ก็อาจจะส่งผลให้กับท่อประปาไม่ว่าจะเป็นท่อประปาแตก หรืออาจจะมีรอยร้าวซึ่งทำให้เกิดน้ำรั่วซึมเข้าสู่ผนังภายในตัวบ้าน ฉะนั้นแล้วสำหรับการวางเสาเข็มจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการป้องกันปัญหาพื้นบ้านทรุดตัว รวมถึงพื้นที่ในส่วนอื่นๆเช่นพื้นที่สำหรับจอดรถยนต์ และพื้นที่ครัว โดยพื้นที่เหล่านี้นั้นจะเป็นส่วนที่แบกรับน้ำหนักค่อนข้างสูง และสามารถพบเจอปัญหาการทรุดตัวของพื้นบ้านได้จากพื้นที่เหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง ฉะนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมครัว หรือการเริ่มสร้างบ้านทำส่วนอื่นๆควรจะศึกษาเรื่องพื้นที่ เรื่องของปริมาณดิน และเรื่องของการตอกเสาเข็มให้แน่ใจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับพื้นบ้านทรุดตัวและลามไปถึงปัญหาอื่นๆได้
โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon