บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ June 15, 2023

การตรวจรับบ้าน หลังจากผู้รับเหมาก่อสร้างหรือบริษัทรับสร้างบ้านดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหากพบข้อบกพร่องตรงไหนจะได้ให้ช่างทำการแก้ไขก่อนที่จะเซ็นต์รับมอบบ้าน แต่ส่วนมากแล้วเจ้าของบ้านมักจะตรวจรับแค่งานภายนอก-ภายในหรืองานโครงสร้างเท่านั้น โดยหลงลืมที่จะให้ความใส่ใจตรวจสอบคุณภาพของการมุงหลังคา อาจเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากและมีความสลับซับซ้อนค่อนข้างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วเจ้าของบ้านเองก็สามารถตรวจสอบหลังคาได้เองในเบื้องต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป ถ้ารู้เทคนิคในการตรวจ เจ้าของบ้านก็ตรวจเองไได้ง่ายๆ


1. ตรวจสอบความเรียบร้อยรูปลักษณ์และองค์ประกอบต่าง ๆ ของหลังคา

ตรวจสอบความเรียบร้อยรูปลักษณ์และองค์ประกอบต่าง ๆ ของหลังคา

โดยขั้นแรกให้เริ่มจากตรวจสอบดูความเรียบร้อยและรูปลักษณ์ภายนอกด้วยสายตาเปล่าก่อน ว่าหลังคาสวยงามแล้วหรือยัง แล้วค่อยไล่ไปจนถึงแนวทางการตรวจสอบในจุดที่สำคัญๆควรต้องสังเกตดูอย่างละเอียด รอบคอบ และอย่าลืมถ่ายรูปจดบันทึกเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย จะได้นำมาใช้ในการเปรียบเทียบงานที่ดำเนินการแก้ไขแล้วภายหลังอีกครั้งว่าได้ทำการแก้ไขตามที่ได้ตรวจไปแล้วหรือยัง สิ่งสำคัญอีกอย่างก่อนที่จะตรวจสอบเจ้าของบ้านจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของงานหลังคาทั้งหมดที่ผู้ออกแบบของบริษัทรับสร้างบ้านได้กำหนดไว้ เช่น วัสดุที่นำมามุงหลังคาคืออะไร, มีการติดตั้งฉนวนกันความร้อนให้ด้วยหรือไม่, ความชันของหลังคาเท่าไหร่, รูปแบบที่นำมาใช้ติดตั้งอย่างไร, ซึ่งทั้งหมดนี้เจ้าของบ้านสามารถดูได้จากรายการประกอบแบบที่ทางสถาปนิกได้กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างนั่นเอง

ในการตรวจรับบ้านนั้น การตรวจสอบหลังคาวิธีที่ง่ายสุดก็คือการใช้สายตาในการตรวจสอบ โดยพิจารณาว่ากระเบื้องควรมุงให้ได้ในแนวระดับ ไม่แอ่นหรือยุบ กระเบื้องแต่ละแผ่นทำการติดตั้งเรียบร้อยดีไม่เผยิบออกมา สีของกระเบื้องมีความสม่ำเสมอเป็นสีเดียวกันตลอดทั้งผืนหลังคา ไม่มีร่องรอยร้าว บิ่น แตกหักเสียหาย ไม่เกิดรอยคราบสกปรกของน้ำปูน อุปกรณ์ที่นำมาใช้ยึดติดหลังคาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ตลอดจนแนวฝ้าชายคาเรียบตรงขนานไปกับตัวบ้าน ไม่บิดเบี้ยวหรือแอ่นตัว โดยเฉพาะหากใช้เป็นฝ้าระแนงไม้ รวมทั้งบริเวณรอยต่อเข้ามุมควรมีความเสมอกันชนิดที่ว่าแผ่นต่อแผ่นอย่างเป็นระเบียบ

นอกจากนั้นแล้วบริเวณตะเข้รางและช่วงรอยต่อตรงบริเวณรางน้ำเชิงชายก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องสังเกตว่ามีลูกปูนไปติดอยู่หรือไม่ เพราะอาจเป็นสาเหตุที่จะทำให้ขวางทางน้ำไหลก่อให้เกิดหลังคารั่วได้ และอย่าลืมที่จะสังเกตแนวกระเบื้องด้วยว่าบริเวณชายคาได้ระดับ ไม่ตกหรือย้อยลง (สำหรับแนวทางแก้ไขคือการยกแผ่นกันนกขึ้น ให้ได้แนวความชันเดียวกับแผ่นกระเบื้องแถวอื่นๆ)


2. ตรวจสอบการรั่วซึมของหลังคา

ตรวจสอบการรั่วซึมของหลังคา

“หลังคารั่วซึม” เป็นปัญหาที่ทำให้เจ้าของบ้านเกิดปวดหัวมากที่สุดในขั้นตอนวิธีการตรวจรับบ้าน ซึ่งปัญหาที่มักจะพบบ่อยๆอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงควรให้ความสำคัญตรวจสอบในจุดที่มีความเสี่ยงต่อการรั่วซึมของหลังคา ด้วยการแบ่งออกเป็นจุดเสี่ยงบริเวณรอยต่อหลังคาบ้าน และจุดเสี่ยงบนผืนหลังคาบ้าน โดยเฉพาะตรงบริเวณครอบสันหลังคาและตะเข้สันซึ่งจะมีการติดตั้ง “ครอบ” เพื่อเป็นตัวปิดรอยต่อระหว่างหลังคา 2 ผืน ถ้าหากเป็นระบบครอบหลังคาแบบเปียกที่ใช้เป็นปูนยึดครอบกับกระเบื้อง ควรต้องตรวจดูด้วยว่าสภาพของปูนที่ยึดครอบว่ามีการเสื่อมสภาพของปูน รอยร้าว แตก บิ่นบ้างหรือไม่ แต่หากเป็นระบบครอบหลังคาแบบแห้ง (Drytech System) ควรต้องสังเกตครอบกระเบื้องมุงให้ได้แนวดี ห้ามเห็นปลายแผ่นยางสีดำโผล่

ส่วนอีกจุดหนึ่งที่มักจะเจอปัญหารั่วซึมคือบริเวณแนวรอยต่อกระเบื้องหลังคาชนผนัง โดยปกติแล้วจะมีวัสดุครอบของกระเบื้องประเภทนั้นปิดไว้ แต่ถ้าเป็นการใช้ปูนปั้นหรือปีกนก ค.ส.ล.ก็ควรตรวจดูสภาพว่าต้องไม่มีรอยเกิดการแตกร้าว มีขนาดปีกที่ยื่นออกมาคลุมหลังคาได้เหมาะสม รวมทั้งระยะห่างจากกระเบื้องไม่สูงจนเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดการรั่วซึมในภายหลังได้อีกด้วย


3. ตรวจสอบช่องตามหลังคา

ตรวจสอบช่องตามหลังคา

บางครั้งช่องหลังคาอาจกลายเป็นที่อยู่อาศัยของพวกสัตว์ต่างๆ เช่น หนู นก แมลง ซึ่งทำให้ก่อกวนความสงบสุขของคนในบ้าน ดังนั้นเราจึงควรต้องปิดช่องทางเข้าออกของสัตว์เหล่านี้ โดยเฉพาะบริเวณที่เชิงชาย ควรติดตั้งแผ่นกันนกไม่ว่าจะเป็นแบบสำเร็จรูป หรือจะตัดไม้ตามรูปลอนกระเบื้องอย่างมิดชิด ปิดสนิทให้เรียบร้อย รวมถึงบริเวณชายคาภายนอกบ้านที่เป็นฝ้าระแนงไม้ตีเว้นร่อง หรือฝ้าแผ่นเรียบที่มีรูระบายอากาศ ลองสังเกตดูว่ามีการใส่มุ้งลวดกันแมลงไว้ด้วยหรือเปล่า


พึ่งระลึกไว้เสมอว่าหลังคาที่ผ่านการมุงเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากต้องมาแก้ไขในภายหลังไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการแก้ไขกันได้ง่ายๆ ฉะนั้นในการเลือกผู้รับเหมา, บริษัทรับสร้างบ้านหรือแม้กระทั่งซื้อบ้านกับโครงการจัดสรร จุดที่สำคัญอีกอย่างคืออย่าลืมตรวจสอบเรื่องการรับประกันผลงานเพราะบางหมู่บ้านจะมีการรับประกันในส่วนของหลังคาและโครงสร้างหลังคาให้ดด้วย

แต่กรณีที่เป็นบ้านสร้างเองหากสามารถทำได้ควรเริ่มตรวจสอบงานหลังคาตั้งแต่ขั้นตอนการติดตั้งโครงหลังคา ซึ่งอาจต้องอาศัยความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพราะถือว่าเป็นเรื่องทางวิศวกรรมโครงสร้าง เพื่อให้ขั้นตอนการมุงหลังคาสำเร็จผ่านไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย และช่วยลดความเสี่ยงของปัญหานานานัปการที่จะตามมาภายหลัง แถมยังได้ความสวยงามเรียบร้อย ไม่รั่วซึมจากปัญหาที่กล่าวมาในข้างต้น ทั้งนี้การหมั่นเข้าไปตรวจดูบ้านนอกจากจะตรวจหลังคาแล้วยังถือโอกาสตรวจสอบขั้นตอนต่างๆในระหว่างก่อสร้างอีกด้วย เพราะถ้าเกิดติดปัญหาส่วนไหนจะได้ดำเนินการแก้ไขทันที

ระบบอื่นๆของบ้านที่ต้องตรวจหลังสร้างบ้านเสร็จ

นอกจากบนหลังคาบ้านแล้วใต้หลังคาบ้านก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ และยิ่งไปกว่านั้นระบบสาธารณูปโภคเช่น น้ำประปา, ไฟฟ้า, งานพื้น และงานก่อกำแพง ยังเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกันที่ต้องตรวจให้ดีก่อนรับมอบบ้าน สำหรับวิธีการตรวจรับบ้านทำยังไงนั้น ดูรายละเอียดตามด้านล่างนี้ได้เลย

  • ตรวจงานใต้หลังคา

เพื่อตรวจสอบการรั่วซึมของหลังคา ในช่วงหน้าฝนควรตรวจดูโครงเหล็กหลังคาโดยการขึ้นไปเหยียบ และใช้ไฟฉายส่องเพื่อตรวจสอบรอยรั่ว ในกรณีที่มีแสงลอดออกมาจากด้านนอก ต้องรีบแจ้งช่างมาแก้ไข นอกจากนี้ควรตรวจสอบฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาว่ามีการฉีกขาดหรือใส่ไม่ครบหรือไม่ และรีบแจ้งให้มาดำเนินการในทันที

  • ตรวจระบบไฟฟ้า

เพื่อตรวจสอบปัญหาไฟฟ้าในบ้าน ควรทดสอบการเปิด-ปิดไฟทุกดวง และตรวจสอบไฟรั่วโดยการเตรียมไขควงวัดกระแสไฟ ตรวจสอบการเดินสายไฟในห้องน้ำและท่อที่อยู่ใต้ฝ้า ทดสอบปิดไฟทุกดวงและตรวจสอบดูว่ามิเตอร์ไฟยังวิ่งไหม ตรวจสอบสายดินของ Main Breaker และเดินสายไฟ 3 เส้นเหมือนกันเพื่อป้องกันการช็อตไฟฟ้า

  • ตรวจระบบประปา

เพื่อตรวจสอบการรั่วของท่อน้ำในบ้านให้ทดสอบเปิดก๊อกน้ำทุกตัวและทดสอบเทน้ำลงบนจุดที่มีการระบายน้ำ เพื่อดูช่องทางของท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ยังตรวจสอบปั้มน้ำและอุปกรณ์ในห้องน้ำว่ามีครบทุกชิ้นหรือไม่

  • ตรวจงานกำแพง

เมื่อตรวจสอบความสะอาดของกำแพงและวอลเปเปอร์ ตรวจสอบรอยเปื้อนและรองโป่งของกำแพง ตรวจสอบขอบบัวผนังว่ามีช่องว่างหรือไม่ ตรวจสอบสีนอกอาคารว่ามีร่องรอยรั่วหรือไม่ ตรวจสอบประตูและหน้าต่างว่าสนิทและมีแสงลอดออกมาได้หรือไม่ ทดสอบไขกุญแจดูทุกดอกด้วย

  • ตรวจระบบพื้น

เคล็ดลับการตรวจสอบความราบรื่นของพื้นสำหรับบ้าน ได้แก่ 1) ตรวจด้วยการเดินเท้าเปล่าและใส่ถุงเท้า 2) ใช้เหรียญเคาะพื้น 3) ใช้ลูกแก้วกลิ้งบนพื้น เพื่อตรวจสอบว่าพื้นเป็นหลุมหรือไม่


สำหรับการตรวจหลังคาและตรวจระบบสาธารณูปโภคอย่างระบบไฟฟ้า, ระบบน้ำประปาและงานก่อสร้างอื่น ๆ ที่สรุปไว้ข้างต้นเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ในการรับมอบบ้านหลังสร้างบ้านมือหนึ่ง หรือแม้กระทั้งซื้อบ้านมือสองก็ต้องทำการตรวจให้ละเอียด เพราะถ้ามีปัญหาจะได้รีบแก้ไขและแจ้งผู้รับเหมาหรือเจ้าของบ้านเดิมให้รีบซ่อม ไม่ต้องมานั่งปวดหัวในการซ่อมเองในอนาคต

เขียนโดย Con Mueangsak

โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save