ตรวจรับบ้าน ใหม่อย่างมืออาชีพ ทำยังไงมาดูกัน !
ตรวจรับบ้าน ก่อนที่จะไปเซ็นต์โอนบ้านเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนซื้อบ้านจัดสรรหรือสร้างบ้านเองควรที่ต้องคำนึงถึงและระมัดระวังอย่างมากก็ เพราะถ้าคุณตรวจรับบ้านไม่ละเอียดถี่ถ้วนดีพอ ที่นี้ล่ะงานก็จะเข้าคุณทันที ในกรณีที่พบว่าบ้านมีปัญหาแน่นอนอยู่แล้วว่าทางโครงการจะปัดความรับผิดชอบทันที คราวนี้คนที่ต้องมานั่งทนทุกข์ก็คือเจ้าของบ้านนั่นเอง ดังนั้นเราจึงต้องตรวจรับบ้านอย่างละเอียด อย่าวางใจแค่ว่าเป็นหมู่บ้านโครงการใหญ่มีมาตรฐาน คุณต้องไม่ลืมว่าทางโครงการก็มีการจ้างผู้รับเหมาต่ออีกที ฉะนั้นย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ วันนี้เราจึงมาแนะนำวิธีการตรวจรับบ้านอย่างมืออาชีพมาฝากกันคะ
คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านต่อได้เลย การตรวจรับบ้าน ให้เป๊ะ กับ วิธีตรวจรับงานหลังคายังไงไม่ให้พลาด
ตรวจระบบประปา
1.ทดสอบเปิดก๊อกน้ำทุกตัวที่อยู่ในบ้านและนอกบ้านเพื่อพิสูจน์ว่ามีตรงไหนรั่วหรือไม่ หรือปิดก๊อกน้ำแล้วดูว่ามิเตอร์ยังวิ่งอยู่หรือเปล่า ถ้าพบว่ามีแสดงว่ามีจุดใดจุดหนึ่งในบ้านที่รั่วแน่นอน
2.ทดสอบเทน้ำลงบนจุดที่มีการระบายน้ำ เพื่อจะได้ดูช่องทางของท่อระบายน้ำ
3.ทดสอบเปิดน้ำดูว่าปั้มน้ำมีการทำงานปกติไหม และน้ำแรงพอหรือเปล่า
4.ตรวจสอบภายในห้องน้ำว่ามีครบหรือไม่ทั้งอ่างล้างหน้า ก๊อกน้ำ ชักโครก สายชำระ ที่ใส่กระดาษทิชชู่ ที่แขวนผ้าเช็ดตัว ก๊อกน้ำ ฝักบัว และสุดท้ายคือฝาปิดท่อน้ำแบบกันกลิ่น
ตรวจรับบ้าน ใหม่อย่างมืออาชีพ ทำยังไงมาดูกัน
ตรวจระบบไฟฟ้า
1.ทดสอบการเปิด-ปิดไฟทุกดวงในบ้านว่ามีปัญหาติดบาง ไม่ติดบางหรือเปล่า กรณีที่พบว่าไม่ติดต้องรีบแจ้งไปทันที หรือต้องการย้ายไฟดวงไหนก็ให้แจ้ง
2.เตรียมไขควงวัดกระแสไฟไปจิ้มที่น๊อตของปลั๊กไฟดู เพื่อจะได้ดูว่ามีไฟรั่วหรือเปล่า จากนั้นลองเปิดปลั๊กไฟเพื่อดูการเดินสายไฟว่ามี 3 เส้นหรือมีสายดินให้ด้วยหรือไม่ และลองทดสอบด้วยการนำพัดลมหรือไดร์เป่าผมก็ได้มาเสียบดูว่าปลั๊กไฟอันไหนบ้างที่ใช้การไม่ได้
3.ตรวจสอบว่าในห้องน้ำมีการเดินสายไฟให้เพื่อสำหรับติดเครื่องทำน้ำอุ่นไว้ให้เรียบร้อยหรือไม่
4.ตรวจสอบการร้อยสายไฟใส่ท่อที่อยู่ใต้ฝ้าว่ามีการทำเรียบร้อยหรือไม่ แต่ก่อนที่จะขึ้นไปตรวจสอบจะต้องปิด Main Breaker ก่อน สาเหตุเพราะถ้าสายไฟที่ไม่ได้ร้อยท่อ เวลาที่เกิดฝนตก หลังคารั่ว อาจจะทำให้ไฟฟ้าช็อตได้
5.ทดสอบปิดไฟทุกดวงในบ้าน แล้วดูว่ามิเตอร์ไฟวิ่งไหม ถ้ามิเตอร์ยังวิ่งอยู่ แสดงว่าในบ้านมีไฟรั่วต้องรีบหาทางแก้ไข
6.ตรวจสอบดูว่าสายดินของ Main Breaker ควรฝังดินลึกลงไปประมาณ 2 เมตร ถ้ากรณีที่ฝังตื้นไปควรแจ้งให้ทำการฝังใหม่ หรือจ้างช่างภายนอกมาฝังเองก็ได้
7.เรื่องกระดิ่งหน้าบ้านควรต้องเดินสายไฟ 3 เส้นเหมือนกัน รวมทั้งยางกันน้ำ และกล่องครอบกันน้ำด้วย
คุณอาจสนใจบทความนี้ คลิกอ่าน ข้อควรรู้ก่อน สร้างบ้านด้วยตัวเอง
ตรวจระบบพื้น
1.ตรวจสอบด้วยการเดินเท้าเปล่ากับพื้นว่ามีการปูเรียบร้อยไหม หลังจากนั้นลองใส่ถุงเท้าเดินอีกรอบจะได้รู้ว่าเกิดรอยหรือเปล่า และตามร่องยาแนวที่ปูสะอาดหรือไม่
2.ลองใช้เหรียญเคาะที่พื้นบ้านดูว่ามีเสียงพื้นโป่งหรือเปล่า หากพบให้นำกระดาษกาวมาแปะทำเครื่องหมายไว้ให้ช่างทราบ
3.ลองนำลูกแก้วหลายลูกกลิ้งไปบนพื้น ทิ้งห่างกันประมาณ 10 ซม. ว่าลูกแก้วไหลไปทางไหน ถ้าไหลไปรวมกันแสดงว่าพื้นเป็นหลุม แต่ว่าหากจุดไหนไม่มีลูกแก้วแสดงว่าพื้นบริเวณนั้นปูด
ตรวจงานกำแพง
1.เช็คดูว่ากำแพงสะอาดไหมมีตรงจุดไหนที่มีรอยเปื้อน หรือวอลเปเปอร์ที่ติดไว้เรียบเสมอกันหรือเปล่า หรือใช้หน้าแนบติดกับกำแพง ดูว่าตรงจุดไหนมีรองโป่งหรือเปล่า
2.ตรวจตรงขอบบัวผนังด้วยการใช้ไม้บรรทัดวางกับพื้นแล้วเลื่อนไปเรื่อยๆ หากพบว่ามีช่วงที่โป่งหรือเว้าตัวของขอบบัว เราจะพบช่องว่างระหว่างไม้บรรทัด
3.ตรวจสอบสีนอกอาคาร ว่ามีร่องรอยรั่ว หรือร้าวแตกตัวออกมาหรือเปล่า
4.ประตู หน้าต่างก็สำคัญเช่นกัน ต้องปิดเข้ามาดูว่าสนิทไหม หลังจากนั้นลองเอาไฟฉายส่องดูว่าแสงลอดออกมาได้ไหม อย่าลืมทดสอบไขกุญแจดูทุกดอกด้วยนะคะ
ตรวจงานใต้หลังคา
1.ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนจะตรวจดูการรั่วซึมของหลังคาได้ดีกว่า แต่ถึงแม้ไม่ใช่หน้าฝนก็ทำได้ด้วยการขึ้นไปเหยียบโครงเหล็กหลังคา(ห้ามเหยียบบนฝ้าเด็ดขาดเพราะอาจจะทำให้ฝ้าถล่มลงมาได้) จากนั้นก็ใช้ไฟฉายส่อง ถ้าพบว่ามีแสงลอดออกมาจากด้านนอกแสดงว่ามีรอยหลังคารั่วแน่นอน ต้องรีบให้ช่างมาแก้ไข
2.ตรวจสอบฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาว่ามีการฉีกขาด หรือใส่ไม่ครบหรือเปล่า ต้องรีบแจ้งให้มาดำเนินการในทันที
แม้ว่าหัวข้อการตรวจรับบ้านอาจจะดูว่ายุ่งยากและมากมาย แต่การตรวจเช็คให้เรียบร้อยก่อนเซ็นโอนบ้านจะช่วยไม่ให้คุณเองต้องมาตามแก้ไขในภายหลัง เมื่อพบความเสียหายต่างๆต้องรีบแจ้งให้ทางโครงการแก้ไขทันที โดยต้องทำการลงรายละเอียดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้เพื่อความรอบคอบจะดีกว่าค่ะ