บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ May 12, 2023

แบบบ้านผู้สูงอายุ สร้างบ้านอย่างไร ให้รองรับคนสูงอายุ

แบบบ้านผู้สูงอายุ ก่อนที่จะเริ่มสร้างบ้านสิ่งที่ต้องคำนึงนอกจากความสวยงาม แข็งแรง ทนทาน แล้ว ยังมีอีกเรื่องที่ควรคำนึงถึงคือเรื่องการรองรับผู้สูงอายุด้วย เพราะวันหนึ่งข้างหน้าเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนในครอบครัวจะไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆขึ้น หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ของเราเองในวันหนึ่งท่านก็ต้องเป็นผู้สูงอายุ การอาศัยบ้านแบบปกติทั่วไปก็จะทำให้อยู่ลำบากมากขึ้น ฉะนั้นเราจึงควรสร้างบ้านเพื่อรองรับผู้สูงอายุ หรือคนพิการเผื่อไว้ วันนี้เราจึงนำไอเดียมาฝากกัน เพื่อที่ใครกำลังคิดจะสร้างบ้านจะได้นำไอเดียตรงนี้ไปต่อยอดปรับให้เหมาะสมกับคนในครอบครัวคะ

คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านเลย การเขียนแบบบ้าน เคล็ด (ไม่ลับ)


1.ทางเข้าบ้าน

แบบบ้านผู้สูงอายุ

จุดแรกที่ถือได้ว่าเป็นจุดที่สำคัญต้องนึกถึงเป็นอันดับแรกก็คือทางเข้าบ้าน ควรที่จะทำทางลาดเอียงไว้จะเห็นได้ว่าปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า,โรงพยาบาล หรือสถานที่สำคัญต่างๆก็จะมีการทำทางลาดเอียงไว้เพื่อให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็นจะได้เข้าพื้นที่ได้อย่างสะดวก โดยควรให้มีความกว้างไม่ต่ำกว่า 90 ซม.และมีอันตราส่วนความชันที่ 1 : 12 พร้อมการติดตั้งราวกันตกและราวจับไว้เป็นขอบจะทำให้สะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หรือจะทาสีเพื่อแยกส่วนของพื้นบ้านและกันตกให้เห็นเด่นชัด ก็จะทำให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น หากกรณีที่เรายังไม่มีผู้สูงอายุหรือผู้พิการอาศัยอยู่ในบ้านก็ทำเพื่อไว้สำหรับขนของเข้าบ้านด้วยรถเข็นก็จะให้ความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นด้วย


2.ห้องนอน

แบบบ้านผู้สูงอายุ

ที่เจ้าของบ้านจัดให้เป็นห้องสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการควรมีสร้างให้มีช่วงขอบหน้าต่างไม่สูงจนเกินไปนักสามารถให้มองเห็นได้จากภายนอกหากเกิดกรณีฉุกเฉินอะไรขึ้นจะได้สามารถให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที รวมทั้งปลั๊กไฟให้สูงจากพื้นขึ้นมาประมาณ 12 ซม.และสูงประมาณ 90 ซม.เพิ่มอีกหนึ่งจุด ทั้งนี้หากมีผู้อาศัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ควรติดตั้งสัญญาณฉุกเฉินไว้ที่บริเวณหัวเตียง พร้อมติดตั้งไฟไว้ที่ใต้เตียงเพื่อจะได้อำนวยความสะดวกโดยเฉพาะในช่วงกลางคืนเผื่อว่าจะต้องเดินไปห้องน้ำหรือเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้พิการ เรื่องของสีห้องก็ควรเลือกให้เป็นโทนสีฟ้าอ่อน,เขียวอ่อน เพราะจะทำให้ผู้ที่อาศัยในห้องรู้สึกเย็น สบาย ผ่อนคลาย ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส ลดความเจ็บปวดและอาการนอนไม่หลับได้


3.ห้องน้ำ

แบบบ้านผู้สูงอายุ

เริ่มที่ประตูควรเลือกแบบที่เป็นประตูบานเลื่อนเพราะจะช่วยลดการใช้แรงผลักได้ง่ายกว่าประตูทั่วไปอีกทั้งยังไม่กีดขวางเวลาที่เปิดประตู หลีกเลี่ยงการทำธรณีประตูเพราะจะทำให้ผู้ที่ใช้รถเข็นไม่สะดวกในการเข้าไปยังใช้บริการห้องน้ำ การเลือกพื้นห้องควรเลือกวัสดุที่ไม่ลื่น รวมทั้งมีพื้นที่เพียงพอต่อการหมุนตัวของรถเข็นได้ โดยระยะที่เหมาะสมจะอยู่ที่เส้นผ่าศูนย์กลาง 150 ซม.และติดตั้งราวจับในส่วนของบริเวณโถส้วม อ่างล้างหน้าหรืออ่างอาบน้ำความสูงจากพื้นที่ประมาณ 70-80 ซม.เพื่อที่ผู้สูงอายุหรือผู้พิการไม่ต้องลงมาจากรถเข็นก็สามารถที่จะใช้งานได้ และควรทำเคาน์เตอร์ให้เป็นลักษณะโปร่ง จะได้ช่วยให้รถเข็นสามารถสอดเข้าไปข้างใต้เคาน์เตอร์ได้ ซึ่งจะช่วยให้ได้ระยะการใช้งานที่เหมาะสมพอดี ก๊อกน้ำเลือกเป็นลักษณะที่เป็นคันโยก และที่สำคัญอย่าลืมติดตั้งอุปกรณ์เตือนสัญญาณฉุกเฉิน เป็นปุ่มสีแดงไว้ใกล้กับบริเวณโถส้วมและอ่างน้ำด้วย

คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านเลย แบบแปลนบ้าน ตัว L กับ 7 เหตุผล 


4.ห้องครัว

แบบบ้านผู้สูงอายุ

การก่อเคาน์เตอร์ควรพิจารณาความสูงและความลืมให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้ที่จำเป็นต้องนั่งรถเข็นด้วย เพื่อที่คนในครอบครัวทุกคนจะได้สามารถใช้ประโยชน์ของห้องครัวร่วมกันอย่างไม่มีปัญหา อาจจะคาดคะเนความสูงไว้ที่ประมาณระยะ 75-85 ซม. เพื่อที่จะได้พอดีกับรถเข็น รวมถึงชั้นวางของด้านล่างควรมีระยะที่ประมาณ 60-65 ซม.


5.พื้นบ้าน

แบบบ้านผู้สูงอายุ

ควรเลือกพื้นที่มีความหนืดของผิวสัมผัส เช่น กระเบื้องชนิดที่กันลื่นได้หรือพื้นไม้ไม่ควรขัดให้มีความมันวาวมากนักเพราะจะทำให้ลื่นมาก กรณีที่ต้องการปูพรมก็ควรระมัดระวังตรงมุมพรมควรติดให้แน่น ไม่นูนหรือเปิดขึ้นมาเพราะเสี่ยงต่อการเดินสะดุดเป็นอย่างมาก


6.ความสม่ำเสมอของแสงสว่าง

แบบบ้านผู้สูงอายุ

อย่าลืมว่าสายตาของผู้สูงอายุนั้นจะมีการตอบรับกับแสงสว่างได้ช้ากว่าคนหนุ่มสาวทั่วไป การปรับสายตาระหว่างพื้นที่สว่างกับพื้นที่มืดจึงทำได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก ฉะนั้นในบ้านจึงควรมีแสงสว่างที่สม่ำเสมอ คือ ระหว่างห้อง ระหว่างภายในและภายนอก ควรจัดให้มีแสงสว่างที่ใกล้เคียงกัน


7.สวิตช์ไฟต้องให้ใหญ่ชัดเจน

แบบบ้านผู้สูงอายุ

เพื่อที่จะได้มองเห็นสะดวก ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อนจนเกินไปอาจจะมีสีขาวและเรืองแสงในที่มืด ตำแหน่งให้อยู่สูงจากพื้นในระยะที่ผู้ที่นั่งรถเข็นสามารถที่จะใช้งานได้สะดวก อีกทั้งควรมีการรวมทั้งแผงสวิตช์พัดลม แอร์ หรือระบบต่างๆภายในบ้าน ไว้ในตำแหน่งเดียวกันหรือใกล้เคียงกันเพื่อจะได้ไม่ต้องยุ่งยากในการใช้งาน


เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับไอเดียการสร้างบ้านเพื่อรองรับผู้สูงอายุซึ่งถ้าเรามีการสร้างเผื่อไว้ก่อนก็จะได้ไม่ต้องลำบากในวันข้างหน้าที่จะต้องมานั่งทุบหรือต่อเติมในภายหลัง หากว่ายังไม่ได้ใช้งานในตอนนี้ก็ยังเป็นตัวช่วยในการเสริมความปลอดภัยให้กับคนในบ้านไปก่อนก็ได้คะ

เขียนโดย Con Mueangsak

โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon