บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ June 15, 2023

สร้างบ้านไม้ คนส่วนใหญ่มักจะเลือกสร้างบ้านประเภทนี้เพราะคิดว่าการอยู่บ้านไม้จะให้ความรู้สึกเย็นสบาย เนื่องจากบ้านไม้มีช่องให้ลมผ่านเข้ามาได้สะดวกกว่าบ้านปูน และไม่รู้สึกอึดอัด สมัยก่อนจึงมีไม้ให้เลือกหลายรูปแบบ มีทั้งก่อสร้างจากไม้ทั้งหลัง หรือชั้นล่างก่อสร้างด้วยปูนซีเมนต์ส่วนชั้นบนทำเป็นโครงสร้างไม้เป็นต้น แต่ใช่ว่าบ้านไม้จะให้แต่ความเย็นสบายเท่านั้น เพราะบางทีตามรอยต่อของแผ่นพื้นไม้ ไม้ผนัง มักจะมีช่องรอยต่อที่ทำให้ลมซึมผ่านได้ บานประตูหน้ต่างมีช่องเกล็ดไม้ไว้สำหรับระบายอากาศ ซึ่งมันจะกลายเป็นจุดอ่อนของบ้านเพราะลมที่ซึมผ่านเข้ามากลับเป็นลมร้อน แถมฝุ่นและเสียงรบกวน ฉะนั้นหากคุณต้องการหาวิธีปรับปรุงบ้านไม้ให้เย็น พร้อมป้องกันการไหลเข้าของอากาศร้อนสามารถทำได้อย่างไร ลองมาดูวิธีการเลือกใช้วัสดุเพื่อให้บ้านของคุณเย็นขึ้น นอกจากนั้นในส่วนล่างของบทความยังมีเรื่องที่คุณต้องรู้หากอยากให้บ้านเย็นขึ้นอีก เช่น เรื่องความรู้ที่มาจากภายนอกบ้าน, เรื่องเกี่ยวกับการลดการใช้คอนกรีตและการเลือกใช้ม่านและต้นไม้บริเวณหน้าต่าง รายละเอียดตามอ่านข้างล่างได้เลย


1. การเลือกพื้นไม้

สร้างบ้านไม้

การใช้พื้นบ้านที่เป็นไม้นั้นช่วยให้บ้านเย็นอยู่แล้ว แต่มีวิธีเลือกเล็กๆน้อยมากฝากกันก็คือเวลาก่อสร้างบ้านไม้มักจะนำไม้แผ่นๆมาต่อเรียงเข้าด้วยกันโดยเฉพาะตรงพื้นไม้ ส่งผลให้ระหว่างพื้นไม้แต่ละแผ่นจะมีรอยต่อจำนวนมาก ถ้าเจ้าของบ้านจะต้องมานั่งอุดปิดรอยต่อไม้ทีละแนวไปเรื่อยๆคงต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน หรือถ้าเลือกใช้วิธีปูกระเบื้องยาง ไม้ลามิเนต ทับเข้าไปที่ด้านบน ผิวหน้าพื้นไม้เดิมก็จะไม่ได้ระดับราบเรียบเพียงพอ เวลาเดินอาจจะรู้สึกขรุขระ ดังนั้นแนะนำให้ตีปิดฝ้าเพดานยิปซั่ม หรือซีเมนต์บอร์ดใต้ตงไม้แทน จะเสริมไม้โครงเพิ่มก่อนด้วยก็ได้ อาจจะปูฉนวนกันเสียงเพิ่มแทรกเข้าไประหว่างตง หรือช่องว่างระหว่างตงกับไม้โครงชุดใหม่เพื่อช่วยลดเสียงกระทบจากพื้นในช่วงที่มีคนเดิน


2. การเลือกผนังไม้

สร้างบ้านไม้

ปกติแล้วแผ่นผนังของบ้านไม้มักตีซ้อนทับกันไปตามแนวนอน ยึดเข้ากับโคร่งคราวไม้ที่มีระยะห่างอยู่ช่วงประมาณ 60 เซนติเมตร จึงทำให้เกิดรอยต่อจำนวนมาก เป็นผลให้ลมร้อนซึมเข้าสู่ภายในบ้านได้โดยง่าย ฉะนั้นวิธีแก้คือการทำผนังซ้อนด้านในบ้านอีกชั้น และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการกันความร้อนของผนังไม้ ด้วยการเสริมฉนวนกันความร้อนแทรกเข้าไประหว่างโครงคร่าว เจ้าของบ้านบางท่านอาจจะกังวลว่าการเพิ่มผนังเข้าไปอีกชั้นจะกระทบต่อโครงสร้าง ซึ่งถ้าเป็นบ้านไม้ที่มีโครงสร้างเสาคานทำเป็นปูนก็คงไม่มีปัญหา แต่กรณีที่เป็นโครงสร้างเสาคานที่ทำจากไม้ควรยึดแผ่นผนังผืนใหม่กับโครงคร่าวเดิม หรือเสริมไม้โคร่งคราวที่จำเป็นโดยการเลือกวัสดุทดแทนไม้ เช่น ไม้เทียม ไม้ไวนิล เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระน้ำหนักให้กับโครงสร้างไม้ได้


3. การเลือกหน้าต่าง

สร้างบ้านไม้

หากว่าหน้าต่างหันไปรับแดดทางทิศตะวันตก คุณอาจจะเลือกวิธีปิดใช้งานและซ้อนผนังทึบที่ด้านใน หรืออาจจะเลือกลดขนาด จำนวนบานหน้าต่างลง แต่ถ้าหน้าต่างรับแสงจากทางทิศเหนือ ควรจัดให้เปิดรับแสงธรรมชาติได้มากขึ้นด้วยการใช้บานกระจก แล้วเปลี่ยนมาใช้เป็นกรอบวงกบ UPVC เพราะจะช่วยป้องกันการรั่วซึมของอากาศที่จะเข้ามาตามรอยต่อได้ดีกว่าบานไม้แบบเดิม หรืออาจจะปรับปรุงบานไม้เดิมด้วยการปรับขอบบานเรียบๆเป็นขอบบานแบบบังใบ พร้อมกับเสริมเส้นยางตลอดแนววงกบก็ช่วยระบายความร้อนได้เช่นกัน


4. การเลือกฝ้าเพดาน

สร้างบ้านไม้

ความร้อนส่วนใหญ่จะเข้าสู่ตัวบ้านมาจากทางหลังคา ดังนั้นการป้องกันความร้อนจากหลังคาไม่ให้ทะลุลงมาที่ฝ้าได้ ก็จะเป็นการช่วยลดอุณหภูมิและระบายความร้อนในบ้านได้เป็นอย่างดี และแน่นอนว่าจะช่วยให้บ้านเย็นขึ้นได้มาก ในขณะเดียวกันบ้านไม้เก่าหลายหลังจะใช้ซีเมนต์ใยหิน หรือสังกะสีเป็นวัสดุในการมุงหลังคา ไม่มีฝ้าเพดานหรือใช้ฝ้าเพดานเป็นไม้อัดหรือแผ่นยิปซั่มแบบโครงทีบาร์ ซึ่งวัสดุพวกนี้จะป้องกันความร้อนได้น้อย การแก้ไขควรเลือกปรับเป็นฝ้าเพดานยิปซั่มหรือซีเมนต์บอร์ดแบบฉาบเรียบ พร้อมทั้งติดตั้งตัวฉนวนกันความร้อนเหนือแผ่นฝ้าเพดาน ต่ทางที่ดีต้องรื้อโครงและฝ้าเพดานเดิมออกทั้งหมด ก่อนติดตั้งโครงและฝ้าเพดานใหม่แทนที่ และหากว่าเจ้าของบ้านอยากจะติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ควรต้องทราบตำแหน่งในการติดตั้งให้แน่นอน เพื่อจะได้วางแผนเสริมโครงเหล็กสำหรับใช้ยึดแผ่นเหล็กกับยึดตัวเครื่องปรับอากาศ โครงเหล็กจึงควรยึดเข้ากับโครงสร้างเสาคานให้มีความแน่นหนา เพราะช่วงที่เครื่องปรับอากาศทำงานจะเกิดการสั่นสะเทือนและมีเสียงรบกวนคนในบ้าน เช่นเดียวกับพัดลมระบายความร้อนควรแขวนยึดกับโครงสร้างปูนหรือหาตำแหน่งที่อยู่ติดพื้นวางให้มั่นคงนอกจากนั้นควรสำรวจตรงช่องเบรคเกอร์ว่าง บริเวณแผงควบคุมไฟฟ้า เพื่อติดตั้งเบรคเกอร์ของเครื่องปรับอากาศ แต่หากว่าช่องเบรคเกอร์เต็มสามารถที่จะติดตั้งแยกออกมา กรณีที่ต้องการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพียง 1 หรือ 2 เครื่อง ควรใช้มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15 (45) แอมแปร์ ก็เหมาะสมกับบ้านพักอาศัยขนาดเล็ก

วิธีการที่แนะนำมาในข้างต้นเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านและเพื่อเพิ่มความเย็นสบายให้กับภายในบ้านได้อย่างเห็นผลชัดเจน แต่ก่อนที่จะทำการปรับปรุงอย่าลืมตรวจสอบโครงสร้างเสาปูนหรือเสาไม้เสียก่อนว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยแตกร้าว บิดโก่ง และสำรวจพื้นไม้ ผนัง ประตู หน้าต่าง ด้วย เพราะถ้าหากมีโครงสร้างบางส่วนเสียหายก็ต้องทำการซ่อมแซมเสียก่อนด้วยการประกบเสริม ดาม หรือเปลี่ยนใหม่ เพื่อความปลอดภัย


เรื่องอื่นๆที่ต้องรู้เมื่อต้องการให้บ้านไม่ร้อน

แม้ว่าการเลือกวัสดุสร้างบ้านไม้ที่อธิบายทางด้านบนจะช่วยให้บ้านมีอุณหภูมิที่เย็นลง แต่ยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญมาฝากกัน เช่น การป้องกันความร้อนที่มาจากภายนอกบ้าน , การลดการใช้คอนกรีตที่ไม่จำเป็นและการเลือกใช้ม่านหรือต้นไม้ช่วยบังแดดบริเวณหน้าต่าง

  • ป้องกันความร้อนที่มาจากภายนอกบ้าน

การป้องกันหรือกรองแสงแดดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการลดความร้อนในบ้าน การปลูกต้นไม้ยืนต้นและต้นไม้คลุมดินจะช่วยลดอุณหภูมิจากพื้นดิน และการต่อเติมระแนงจะช่วยกรองแสงได้ในระดับหนึ่ง โดยการเลือกตำแหน่งที่จะปลูกต้นไม้ควรเน้นตรงจุดที่แสงแดดส่องถึง

  • การลดการใช้คอนกรีต

นอกจากนั้นถึงแม้ว่าบ้านอาจจะสร้างด้วยไม้ แต่บางส่วนของบ้านอาจจะเป็นคอนกรีต เช่น พื้นที่จอดรถ กำแพงบ้าน หรือส่วนอื่นๆก็ตาม การลดพื้นที่คอนกรีตเพื่อลดการสะสมพลังงานความร้อนเป็นวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมากในการสร้างบ้านให้มีอุณหภูมที่เย็นลง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้คอนกรีตได้ ก็ควรใช้ไม้กระถางแทนเพื่อลดความร้อนที่สะสมไว้ในพื้นที่คอนกรีต

  • ติดม่านหรือติดต้นไม้บริเวณหน้าต่าง

การติดผ้าม่าน 2 ชั้นหรือชั้นเดียวเพื่อลดความร้อนในบ้าน แต่ถ้าไม่ต้องการติดผ้าม่าน สามารถใช้ต้นไม้หรือไม้แขวนแทนเพื่อช่วยลดการเข้ามาของแสงและระบายความร้อนของบ้านได้เป็นอย่างดี


องค์ประกอบเล็กๆน้อยๆทุกอย่างตั้งแต่การเลือกวัสดุทุกจุดของบ้าน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การลดการใช้คอนกรีต และทุกอย่างที่คุณใส่ใจทำเพื่อที่จะลดอุณหภูมิของบ้านจะสะสมทีละเล็กน้อย ซึ่งหากทำทุกอย่างรวมกันเพื่อให้บ้านเย็นแล้ว คุณจะสังเกตได้เลยว่าค่าไฟจะลดลงและบ้านไม้แสนรักของคุณจะน่าอยู่ขึ้นอีกเป็นกองแน่นอน

เขียนโดย Con Mueangsak

โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon