สร้างบ้านเดี่ยว อย่างไรให้อยู่เย็นเป็นสุข
เข้าเดือนเม.ย.ทีไหร่หลายคนคงจะเตรียมใจรับอากาศร้อนที่ทะลุถึง 40 องศา ชนิดที่ว่าร้อนปรอทแตกกันไปเลย บางคนถึงกับต้องติดเครื่องปรับอากาศใหม่ยกบ้าน เพื่อที่จะได้ช่วยบรรเทาความร้อน แต่ทว่าถ้าเราสามารถออกแบบบ้านและสร้างบ้านเดี่ยว ที่กันความร้อนเข้าถึงธรรมชาติมากขึ้นคงจะดีไม่น้อย วันนี้เราจึงมีไอเดียสร้างบ้านอย่างไรให้คลายร้อนมาฝากกันคะ
คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านต่อเลย เคล็ดลับทำอย่างไรให้ประหยัดงบมากที่สุด
ความร้อนที่มาจากภายนอกอาคาร
ความร้อนส่วนใหญ่แล้วจะมาจากแสงแดด การป้องกันหรือกรองแสงแดดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด จะเป็นบ้านที่สร้างเก่าอยู่แล้ว หรือจะเป็นบ้านที่สร้างใหม่ก็ได้เพียงแค่คุณ “ปลูกต้นไม้ยืนต้น”ก็จะช่วยให้บ้านเย็นสบายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การเลือกตำแหน่งที่จะปลูกก็คือเน้นตรงจุดที่แสงแดดส่องถึง นอกจากการปลูกต้นไม้ยืนต้นแล้วปลูกไม้คลุมดิน เช่น หญ้า ไม้ลักษณะกอ จะช่วยลดอุณหภูมิจากพื้นดินได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากว่าบ้านของคุณไม่มีพื้นที่พอที่จะปลูกต้นไม้ได้ก็มีอีกวิธีที่จะช่วยได้คือการต่อเติมระแนง เพราะไม้ระแนงจะช่วยกรองแสงได้ในระดับหนึ่ง
การลดพื้นที่คอนกรีตให้เหลือน้อยที่สุดก็เป็นหนึ่งวิธี เพราะเนื่องจากคอนกรีตเป็นแหล่งสะสมพลังงานความร้อน จะเห็นได้ว่าบ้านในอดีตมีแต่พื้นดิน ความร้อนจึงไม่มากเท่ากับบ้านที่ปลูกในยุคสมัยนี้โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในตัวเมือง แต่ถ้าหากว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเทพื้นคอนกรีตได้ ก็ให้หาไม้กระถางมาวางไว้แทน
คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านต่อเลย ข้อควรรู้ก่อน สร้างบ้านด้วยตัวเอง
การออกแบบโครงสร้างบ้าน
ก่อนที่เราจะมีการวางผังบ้านต้องทำความเข้าใจในธรรมชาติรอบๆบ้านเสียก่อนเพื่อที่จะได้นำประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้ให้สอดคล้องกับปัจจัยในการก่อสร้างบ้านให้ได้มากที่สุด
- ไม่ควรหันหน้าบ้านขวางดวงอาทิตย์ เช่น กรณีที่ผังบ้านเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ควรหันให้ด้านยาวไปแนวทิศเหนือและใต้ เพื่อที่บ้านจะได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์น้อยที่สุด และได้ลมผ่านมากที่สุด แต่ถ้าหากผังบ้านไม่สามารถที่จะหันได้ทิศทางตามนี้ได้ ให้นำเทคนิคนี้ไปเลือกวางตำแหน่งภายในห้องแทน เช่น ห้องนอน เป็นห้องที่เราใช้พักผ่อนนอนหลับจึงควรจัดให้ห้องนอนอยู่ทางทิศเหนือ, ทิศตะวันออก เพื่อที่ห้องนอนจะได้เย็นสบายที่สุดในบ้าน แต่ถ้าเราคิดว่าเราใช้เวลาอยู่ในห้องไหนมากที่สุดก็ให้ออกแบบให้ห้องนั้นหันไปทางทิศเหล่านี้
- กำหนดทิศทางลม เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยในการถ่ายเทความร้อนภายในบ้าน พร้อมทั้งเปิดรับอากาศใหม่ๆจากภายนอกเข้ามา บ้านลักษณะที่ดีจึงต้องออกแบบให้โปร่ง มีช่องรับลม ไม่ควรมีมุมใดปิดกั้นลม ซึ่งทิศทางลมจะมีความผันแปรตามสภาพอากาศของแต่ละฤดูกาล เช่น เดือนกุมภาพันธ์ – ตุลาคม กระแสลมจะพัดมาจากทางทิศใต้ และช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม กระแสลมจะพัดมาทางทิศเหนือ ซึ่งจะสอดคล้องกับการที่เราหันบ้านไปทางทิศเหนือหรือใต้ได้อย่างพอดี
การเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างบ้าน
ด้วยปัจจุบันนี้วิวัฒนาการหรือเทคโนโลยีต่างๆสามารถผลิตวัสดุก่อสร้างให้นำมาประยุกต์ใช้รองรับกับปัญหาอากาศที่จะทวีความร้อนมากขึ้นในทุกปี ซึ่งหลายบริษัทต่างก็พากันออกแบบวัสดุต่างๆที่สามารถช่วยป้องกันความร้อนไม่ให้กระทบเข้าตัวบ้านได้ เช่น แผ่นฉนวนกันความร้อน, ผนังกันความร้อน, การต่อเติมระแนง, ฟิลม์ติดกระจก เป็นต้น ซึ่งวัสดุดังกล่าวจะมีคุณสมบัติพิเศษที่จะช่วยป้องกัน และสะท้อนความร้อนออกจากตัวบ้านได้
- หลังคาบ้าน เป็นส่วนที่ต้องเจอกับความร้อนจากแสงอาทิตย์มากที่สุด การเลือกซื้อหลังคาที่ให้คุณสมบัติสะท้อนรังสีความร้อนและไม่เก็บความร้อน จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ หรือจะออกแบบหลังคาบ้านให้มีลักษณะสูงโปร่งก็ช่วยลดอัตราการเก็บสะสมความร้อนได้เช่นกัน
- แผ่นฉนวนสะท้อนความร้อน จะเป็นแผ่นที่ติดอยู่ใต้แผ่นกระเบื้องหลังคามีคุณสมบัติช่วยสะท้อนความร้อนที่พัดผ่านหลังคาเข้ามา สะท้อนออกสู่ภายนอก ไม่เข้ามาสะสมอยู่พื้นที่ใต้หลังคา การติดตั้งจะติดพร้อมกับหลังคา ฉะนั้นจึงเหมาะกับบ้านที่สร้างใหม่
- แผ่นฉนวนกันความร้อน จะช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน แต่ในความเป็นจริงแผ่นฉนวนนี้ก็ไม่สามารถที่จะกันความร้อนได้ทั้งหมด แค่ช่วยบรรเทาความร้อนให้เบาบางลงเท่านั้นเอง ซึ่งทำหน้าที่ในการเป็นเกราะป้องกันความร้อนเข้ามาสู่ฝ้าเพดานบ้าน โดยที่แผ่นฉนวนนี้สามารถที่จะติดตั้งบนฝ้าเพดานจึงทำให้สามารถใช้ได้ทั้งบ้านเก่า และบ้านปลูกใหม่
หลายท่านอาจมีข้อสงสัยตามมาว่าควรเลือกแบบไหนถึงจะดีและช่วยบรรเทาความร้อนให้กับบ้านได้จริงๆ ถ้าเป็นบ้านจัดสรรโครงการ บ้านสร้างก่อนขาย ทางโครงการก็จะพยายามชูจุดขายที่ว่ามีการติดตั้งฉนวนกันความร้อนให้ ในความเป็นจริงแล้วเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน โครงการเหล่านี้จะติดตั้งเพียงอย่างใดอย่างหนี่งเท่านั้นซึ่งทำให้ไม่ได้รับประสิทธิภาพเต็มที่ก็ต้องทำใจรับสภาพและหาทางแก้ไขเองภายหลัง แต่กรณีที่เป็นบ้านสร้างเพื่ออยู่อาศัยเอง ขอแนะนำว่าควรติดตั้งสองชนิดคะ ซึ่งจะช่วยป้องกันได้ผลดีกว่าและคุ้มค่าต่อการลงทุนยิ่งถ้าบ้านไม่ร้อนเราก็ไม่จำเป็นที่ต้องติดเครื่องปรับอากาศทั้งหลังก็ได้คะ ผลพลอยได้ก็คือสามารถประหยัดค่าไฟไปในตัวอีกต่างหาก