รีโนเวทบ้าน แล้วมีปัญหาทำยังไงดี? มาเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาแบบมือโปรกันเถอะ!
รีโนเวทบ้าน ทุกครั้งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ต้องประสบพบเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือขัดข้องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ถึงแม้ว่าเจ้าของบ้านจะมีการวางแผนกำหนดแนวทางในการรีโนเวทบ้านไว้เป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่ก็อาจมีบางเหตุปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาในช่วงระหว่างดำเนินการ ฉะนั้นทางที่ดีสิ่งที่เจ้าของบ้านทำได้ดีที่สุดก็คือการเตรียมใจและวางแผนเผื่อการรับมือกับปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยเหล่านี้
1.ความล่าช้ากว่ากำหนดการที่ตั้งไว้
รีโนเวทบ้านเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะงานที่ต้องปรับปรุงบ้านทั้งหลัง ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนก่อนที่จะเริ่มลงมือ เริ่มจากงานสำรวจบ้านเพื่อจัดทำผังพื้นเดิม ผังโครงสร้างเดิม รวมไปถึงผังงานระบบไฟฟ้า งานประปาและงานสุขาภิบาลเดิมก่อน จึงมาเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการออกแบบอย่างละเอียด แต่ในความเป็นจริงพอมาถึงกระบวนการก่อสร้างก็อาจจะต้องพบกับปัญหาหน้างานที่ควบคุมไม่ได้ ส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้งจึงทำให้เวลาในการก่อสร้างล่าช้าออกไปได้เช่นกัน (โดยประมาณอาจจะนานกว่าระยะเวลาที่วางแผนไว้ประมาณ 10-20% ได้)
คุณอาจสนใจบทความนี้ คลิกได้เลย ขั้นตอนน่ารู้ก่อนรีโนเวทบ้านทั้งหลัง
2.งานงอกขึ้นมาอย่างที่คาดไม่ถึง
เวลาที่ต้องมีงานรื้อถอนส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็น พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน และส่วนหลังคา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการซ่อมหรือรีโนเวทให้ได้ตามแบบที่ตั้งใจ แต่ส่วนมากพอรื้อตรงส่วนไหนก็มักจะพบปัญหาที่ต้องมาซ่อมแซมแก้ไขตามมาเสมอตลอด ทั้งส่วนของโครงสร้าง งานตกแต่ง และระบบงานต่างๆรวมถึงอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงาน เช่น ย้ายตู้เสื้อผ้าตำแหน่งเดิมที่วางทับบนพื้นไม้ไว้ออกกลับพบว่าโดนปลวกทำลาย, รื้อเพดานบริเวณใต้พื้นห้องน้ำชั้นบนแล้วเจอคอนกรีตแตกกระเทาะจนเห็นเหล็กเสริมข้างใน หรือ สกัดผนังโดนท่อน้ำที่ฝังไว้จึงทำให้ท่อแตก ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนมีผลต่อระยะเวลาในการทำงานที่ต้องยืดเยื้ออกไป ยังไม่นับเรื่องงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าวัสดุและค่าแรง และถ้าหากต้องไปเช่าบ้านเพื่ออยู่อาศัยหรือเพื่อเก็บของชั่วคราวก็จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายเข้าไปอีก
คุณอาจสนใจบทความนี้ คลิกได้เลย ข้อควรคิดก่อนรีโนเวทแยกส่วนต่างๆของบ้าน
3.งบประมาณบานปลาย
นอกจากจะเจอเรื่องงานที่เพิ่มขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ยังต้องมาเจองบประมาณค่าวัสดุต่างๆที่เพิ่มสเป็คให้ดีกว่าเดิม (เพราะเจ้าของบ้านส่วนใหญ่ต้องเลือกอุปกรณ์ที่ทันสมัยและดีกว่าเดิมสำหรับการก่อสร้างบ้านใหม่)จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งบประมาณบานปลายได้ด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นแล้วเจ้าของบ้านอาจจะต้องกะงบประมาณไว้คร่าวๆเพื่อที่จะได้วางแผนการเงินได้ เช่น
- งบประมาณค่าก่อสร้าง (ค่าวัสดุ+ค่าแรง) เมื่อลองนำมามาเทียบกับกรณีการสร้างบ้านใหม่ เช่น งบประมาณค่าก่อสร้างบ้านเดี่ยว 2-3 ชั้น งบประมาณคร่าวๆ จะอยู่ที่ประมาณ 10,600 – 15,000 บ./ตร.ม. โดยแบ่งออกเป็น
- งานโครงสร้าง 30-35% ของค่าก่อสร้าง
- งานระบบ ประปา ไฟฟ้า ระบายน้ำ 10-15% ของค่าก่อสร้าง
- งานด้านสถาปัตย์ตกแต่งและวัสดุปิดผิว 50-60% ของค่าก่อสร้าง แต่งบประมาณตรงนี้สามารถที่จะยืดหยุ่นได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่เลือกใช้
แต่ถ้าเป็นกรณีปรับปรุงบ้านอาจประมาณราคาที่ร้อยละ 60-75% ของงบประมาณสร้างบ้านใหม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณงานที่ต้องการจะปรับปรุง อย่างบางบ้านอาจจะปรับปรุงแค่ส่วนของงานตกแต่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างก็อาจจะตัดค่าใช้จ่ายโครงสร้างออกไปได้ เป็นต้น
Tips : หากเป็นงานปรับปรุงเพียงเล็กน้อย เช่น ปรับปรุงห้องน้ำ หรือ ทาสีห้องเพียงห้องเดียว ผู้รับเหมามักจะคำนวนค่าใช้จ่ายเปรียบเทียบต่อตารางเมตรที่ค่อนข้างสูง จึงไม่สามารถที่จะนำหลักการข้างบนมาคิดได้
- ค่าใช้จ่ายที่มีเพิ่มเติมขึ้น (ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะนอกเหนือจากงานก่อสร้าง มักประกอบด้วย)
- ค่ารื้อถอน : จะประกอบไปด้วยค่าแรงในการรื้อถอนรวมทั้งขนย้ายเศษวัสดุต่างๆไปทิ้งข้างนอก ซึ่งวัสดุบางส่วนที่รื้อถอนออกมาอาจนำไปขายต่อได้ เช่น ประตูเหล็ก วงกบอะลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์เก่าๆ ในส่วนนี้อาจต้องเพิ่มเติมค่าดำเนินงานขนส่งของเพื่อนำไปขายด้วยเช่นกัน
- ค่าเช่าสถานที่ชั่วคราว : ถ้าเป็นการปรับปรุงบ้านทั้งหลังย่อมต้องมีการรื้อถอนบางส่วนออก ยิ่งเป็นงานโครงสร้างด้วยแล้ว ทำให้เจ้าของบ้านหลายคนนิยมที่จะขนย้ายข้าวของไปไว้ในพื้นที่อื่นๆก่อน บางบ้านอาจอยู่อาศัยไม่ได้ก็ต้องไปเช่าที่อื่นอยู่ชั่วคราวจนกว่างานก่อสร้างจะเสร็จเรียบร้อย ซึ่งนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย
- ค่าจ้างงานออกแบบและวิศวกร : วัตถุประสงค์ของการรีโนเวทบ้านใหม่ก็เพื่อปรับปรุงให้บ้านสวยงาม ทันสมัยมากขึ้น เหมาะสมกับการใช้งานจริงๆ บางครั้งต้องพึ่งพานักออกแบบให้ช่วยในส่วนนี้ และถ้าเป็นโครงสร้างที่ต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น (เช่นเปลี่ยนส่วนของหลังคาใหม่) หรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิม ยิ่งต้องอาศัยวิศวกรให้เข้ามาช่วยตรวจสอบในเรื่องนี้ เพื่อความปลอดภัยในการรื้อถอนและการอยู่อาศัยในอนาคต
4.วัสดุไม่เหมือนเดิม
บางครั้งการซ่อมหรือรีโนเวทก็อาจจะไม่ได้เลือกใช้วัสดุใหม่ทั้งหมด บางส่วนยังคงใช้วัสดุเดิมได้ แต่มีบางส่วนที่ได้รับความเสียหายจำเป็นต้องหามาทดแทน ซึ่งปัจจุบันไม่มีจำหน่ายแล้วทำให้ส่งผลต้องเปลี่ยนแนวทางปรับปรุงใหม่ ฉะนั้นจึงควรต้องประเมินตั้งแต่ต้นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงไหน และสามารถหาซื้อมาทดแทนได้หรือไม่ ถ้าหาแบบทีเหมือนไม่ได้ก็ต้องหาที่มีโทนสีหรือเฉดสีที่ใกล้เคียงของเดิมแล้วหาวัสดุใหม่มาทดแทน ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมของการออกแบบ การใช้งานเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจด้วย จากข้อมูลที่นำเสนอในข้างต้นจะเห็นว่าการ รีโนเวทหรือปรับปรุงบ้านอาจจะดูเหมือนยุ่งยาก แต่ถ้าเราเตรียมความพร้อมรับมือไว้อยู่เสมอ ก็สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดีค่ะ