บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ June 29, 2023

รอยแตก บนคอนกรีต  บ้านเป็นโพรงและหลุดล่อน จะแก้ปัญหาอย่างไร?

รอยแตก บนคอนกรีต ใครที่มีบ้านเป็นของตนเองคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหา นี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย เมื่อคอนกรีตเกิดมีอาการกระเทาะล่อนหลุดออกมาจนสามารถเห็นถึงขั้นเหล็กที่ฝังอยู่ในคอนกรีตเป็นตารางร่างแห ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าเริ่มมีผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างบ้าน ยิ่งถ้าหากทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้เกิดบ้านร้าวหรือบ้านทรุดตัวลงได้ เจ้าของบ้านที่พบปัญหานี้คงมีข้อสงสัยว่าอาการเหล่านี้มีต้นตอสาเหตุมาจากอะไร เพราะเพดานก็อยู่สูงเกินกว่าจะโดนชนจนคอนกรีตกระเทาะ แล้วจะมีหนทางป้องกัน ระมัดระวัง อย่างไรได้บ้าง เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้


สาเหตุที่คอนกรีตเป็นโพรง

รอยแตก

สาเหตุที่ถือว่าเป็นปัจจัยแรกของการเกิดปัญหาทำให้ต้องหาวิธีซ่อมแซมบ้านคือ “ไม้แบบ”(เป็นวัสดุที่นำมาประกอบยึดเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดเป็นกล่อง เป็นร่อง เพื่อให้สามารถวางเหล็ก(เส้น)เสริมตามแบบลงไปก่อนที่จะเทคอนกรีต จะมีทั้งแบบเป็นไม้, เหล็ก, พลาสติก) เมื่อนำมาประกอบเข้าตามแบบที่ต้องการแล้วมักจะพบว่ามีรอยต่อ รอยแยกเกิดขึ้น ซึ่งพวกรอยแยกนี้ก็คือจุดสำคัญที่ทำให้เมื่อเวลาเทคอนกรีตผสมเสร็จหรือคอนกรีตสำเร็จรูปลงไป จะมีน้ำปูนในคอนกรีตเล็ดลอดไหลออกมา จนเหลือแต่เกล็ดเม็ดหินใหญ่ๆและโพรงอากาศ ฉะนั้นในช่วงระหว่างขึ้นไม้แบบจึงต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คอยย้ำเตือนผู้รับเหมาให้ช่วยตรวจสอบรอยแยก ว่าตรงไหนที่เกิดรอยต่อรอยแยกช่วงบริเวณใดบ้าง เช่น รอยต่อระหว่างแผ่น, โคนแบบเสาที่นำมาตั้งบนคานมีขนาดกว้างเกินจนน้ำปูนในคอนกรีตอาจไหลออกมาด้านนอกได้

เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีร่องรอยดังกล่าวให้หาพวกเศษวัสดุกระดาษ ถุงก๊อปแก๊ป ดินน้ำมัน หรือแม้แต่ดินเหนียว นำไปชุบน้ำอุดยาด้านนอกไว้ก่อน ตามร่องรูให้แน่นหนา แต่ถ้าหากเป็นรอยต่อระหว่างแบบที่ลักษณะเป็นแนวยาว สามารถใช้วิธีปิดทับด้วยเทปกาวกระดาษจากด้านในเพื่อป้องกันแทนก็ได้ ซึ่งถ้าทำวิธีนี้ก็จะป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ปัจจัยต่อไปที่ส่งผลทำให้คอนกรีตเป็นโพรงและหลุดล่อนคือ “การเทเขย่าคอนกรีตให้ไหลเข้าเต็มแบบ” เพราะเวลาที่เรานำคอนกรีตมาเทเข้าแบบส่วนมากมักเป็นคอนกรีตที่มีการผสมจนได้สัดส่วนที่เหมาะสมดีแล้ว เมื่อนำไปเทลงในแบบบ่อยๆ บางครั้งก็จำเป็นต้องมีตัวช่วยอย่างเช่น เครื่องจี้คอนกรีต หรือบางคนจะเรียกว่าเครื่องจี้ปูน โดยการจุ่มจี้ลงไปในเนื้อคอนกรีตที่เทลงแบบ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดช่องว่างหรือฟองอากาศในคอนกรีต

สำหรับการใช้เครื่องจี้ก็มีข้อจำกัดด้วยเช่นกัน คือต้องพยายามจี้ในตำแหน่งที่ครอบคลุมการสั่นสะเทือนให้ได้ทั่วถึง ไม่ไปจุ่มจี้ที่จุดใดจุดหนึ่งนานเกินไป จนส่งผลให้เกิดการแยกตัวของส่วนผสมที่ได้ทำการผสมไว้แล้วในบริเวณนั้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโครงสร้างไม่แข็งแรง หรือถ้าหาเครื่องจี้คอนกรีตไม่ได้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้เหล็กงอเป็นตะขอแล้วกระทุ้งคอนกรีตเข้าไปให้ทั่วๆ ทำวิธีนี้อย่างน้อยก็ช่วยให้คอนกรีตไหลไปทั่วถึงดีกว่าปล่อยให้คอนกรีตไหลไปเองตามธรรมชาติ เพราะเมื่อถอดแบบออกมาแล้ว เกิดโชคร้ายพบว่าปูนเป็นโพรงเพียงเล็กน้อยไม่ถึงกับเห็นเนื้อเหล็ก ก็พอใช้ปูนนอนชริ้งค์ (Non-Shrink) มาอุดแทนได้บ้าง แต่หากว่าเป็นโพรงที่มีขนาดใหญ่ หรือมองจนเห็นเหล็กโครงสร้างข้างในอย่านิ่งนอนใจเป็นอันขาดควรรีบไปปรึกษาวิศวกรผู้ออกแบบโดยตรง เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องว่าจะต้องทำอย่างไรในการแก้ไข เช่น ควรซ่อมแซม หรือรื้อทำใหม่ เป็นต้น ซึ่งวิศวกรจะเป็นผู้ประเมินได้ดีกว่าที่เจ้าของบ้านจะประเมินด้วยตนเอง


คอนกรีตหรือปูนกระเทาะหลุดล่อน

รอยแตก

ส่วนปัญหาเรื่องคอนกรีตกะเทาะออกจนเห็นเนื้อเหล็กภายใน มักเกิดมาจากเนื้อคอนกรีตที่หุ้มผิวเหล็กมีความหนาไม่พอ ส่งผลให้ความชื้นภายนอกสามารถเข้าไปทำลายเหล็กจนกลายเป็นสนิมพร้อมกับดันจนคอนกรีตแตกกระเทาะออกมา ทางแก้ไขหากเกิดกรณีนี้ที่นิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่ก็คือ การหล่อลูกปูนจากปูนผสมทราย และมีหนวดเป็นลวดโผล่ปลายออกมา โดยการหล่อให้เป็นก้อนที่มีความหนาตามระยะที่ได้กำหนดไว้ (ทั่วไปจะมีข้อกำหนดระยะห่างจากผิวคอนกรีตถึงผิวเหล็กไว้แล้ว เช่น จะกำหนดไว้อย่างน้อย 1.5 – 2.5 ซ.ม.) แล้วใช้รองหนุนเหล็กให้ห่างจากผิวแบบหล่อ เพื่อเป็นการบังคับให้มีระยะคอนกรีตหุ้มตามกำหนด ซึ่งการใช้วิธีลูกปูนหนุนสามารถหนุนเหล็กเสริมทั้งในคานและพื้น เพื่อจะได้ควบคุมให้เนื้อคอนกรีตหุ้มเหล็กเสริมมีความหนาเพียงพอ จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์เหล็กเสริมเป็นสนิมแล้วดันให้คอนกรีตกะเทาะออกมา

สามารถกล่าวโดยสรุปว่าการติดตั้งไม้แบบเป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นการติดตั้งไม้แบบต้องแนบสนิทไม่มีร่องน้ำให้น้ำปูนไหลออกมาได้ รวมทั้งต้องตีโครงยึดโยงไม่ให้ไม้แบบหลุดจากกัน เรื่องของคอนกรีตเป็นโพรงและหลุดล่อนเป็นปัญหาที่เจ้าของบ้านต้องให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆอย่างที่กล่าวมาแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงสร้างโดยตรง ควรรีบดำเนินการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อความปลอดภัยของผู้พักอาศัยภายในบ้านค่ะ


ปัญหาพื้นบ้านทรุดตัว และเป็นโพรงใต้บ้าน ต้องทำอย่างไร

พื้นรอบบ้านทรุดตัวต่ำกว่าระดับคานบ้านจะทำให้เกิดโพรงใต้บ้านเป็นช่องโหว่งมากขึ้น ทำให้ดูไม่สวยงามและเป็นทางเข้าสัตว์ต่างๆ ดังนั้นควรหาวิธีปิดโพรงให้เรียบร้อย เมื่อต้องการปิดโพรงใต้บ้าน ควรตรวจสอบแนวโน้มการทรุดก่อน และหากพื้นทรุดมานานไม่เกิน 10 ซ.ม. ใน 1 ปี ให้ปรับระดับพื้นดินเพิ่มโดยการถมพื้นให้สูงขึ้นจนเลยโพรงใต้บ้าน แต่ถ้ามีวัสดุปูทับหน้าพื้นอยู่ ให้รื้อออกก่อนแล้วถมทรายและดินให้ได้ตามระดับที่ต้องการ บดอัดให้แน่น จากนั้นก็เตรียมพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อนจะปูบล็อกกลับไปตามเดิมอีกครั้ง

หากพื้นเดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กให้วางตะแกรงเหล็กแล้วเทคอนกรีตทับเพื่อเพิ่มระดับ และเลือกวิธีตกแต่งผิวหน้าตามใจชอบ เช่น คอนกรีตพิมพ์ลาย ปูบล็อกคอนกรีต ปูกระเบื้อง เป็นต้น แต่ถ้าพื้นคอนกรีตเสียหายแตกร้าว ให้ถมทรายปรับระดับก่อนเทคอนกรีต และเมื่อต้องทุบและรื้อออก โดยวิธีแก้ไขปัญหาพื้นบ้านทรุดควรถมทรายให้ได้ระดับก่อนเทคอนกรีตลงไปอีกครั้งหรือเปลี่ยนเป็นตกแต่งอย่างอื่น เช่น ปูหญ้า วางบล็อกคอนกรีตเสริมเป็นลวดลายแทน และควรลงเสาเข็มแบบฐานเข็มปูพรมด้วย เพื่อป้องกันการทรุดตัวลงในอนาคต แต่อย่าลืมว่าพื้นที่ใต้บริเวณนี้จะต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง เช่น อุปกรณ์งานระบบอย่างถังน้ำ ถังดักไขมัน เป็นต้น


วิธีเทพื้นคอนกรีตบริเวณหน้าบ้าน ให้ทนทานต้องทำอย่างไร

การตกแต่งหน้าบ้านด้วยเทคอนกรีตเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของบ้านควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นการเพิ่มความสวยงามและความสมบูรณ์ของบ้านให้เสร็จสมบูรณ์ มาตรฐานการเทพื้นคอนกรีตเป็นถนนทางเข้าบ้านมีความหนา 15 ซม. หรือ 6 นิ้ว และกำลังอัดอยู่ที่ 180-240 ksc โดยสามารถใช้วิธีการสั่งปูนสำเร็จจากโรงงานเพื่อความสะดวกและคุณภาพตรงตามมาตรฐานได้ และมีขั้นตอนการเทพื้นคอนกรีตที่หลากหลายเพื่อให้ได้ผลงานที่สวยงาม ทนทาน และใช้งานได้นาน โดยขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ สำหรับเทพื้นคอนกรีตก็จะมีดังนี้

1. ขั้นตอนการเตรียมพื้นที่

การปรับระดับหน้าดินเดิมให้เรียบ และการกั้นไม้แบบด้วยการวางแนวของเส้นถนน เพื่อให้ขอบเขตความกว้างยาวได้ตามที่แบบกำหนดไว้ และควรให้ความยาวถนนในแต่ละช่วงไม่เกิน 6 เมตร โดยเททรายลงไปจนได้ระดับหนา 5 cm และบดอัดหรือทุบให้แน่น

2. ขั้นตอนสำหรับการเทพื้นคอนกรีต

ควรเสริมตะแกรงเหล็ก Wire Mesh ขนาด 6 @ 15 cm ในเนื้อคอนกรีต และวางอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าผิวคอนกรีตประมาณ 5 ซม. เพื่อป้องกันรอยร้าวบนผิวคอนกรีต เพื่อให้ได้ระดับที่ต้องการ การเทคอนกรีตต้องเริ่มจากการเสริมลูกปูนก่อน จากนั้นวางตะแกรงเหล็ก Wire Mesh และเทคอนกรีตลงไปให้ทั่วพื้นที่ วิธีนี้สะดวกกว่าวิธีแรกที่ต้องเกลี่ยให้ทั่วก่อนวางตะแกรงเหล็ก Wire Mesh หลังจากดำเนินการเทคอนกรีตเสร็จแล้ว ควรปรับแต่งผิวหน้าด้วยท่อปรับผิวหน้าคอนกรีตเพื่อเรียบเนียน และอาจจะเพิ่มการปรับแต่งเพิ่มเติม เช่น กรีดผิวหน้าเป็นลายริ้ว เปลี่ยนพื้นผิวด้วยกระเบื้อง หรือทำเป็นพื้นคอนกรีตพิมพ์ลาย เพื่อให้เกิดความสวยงามให้กับบ้านได้


การเกิดรอยแตกบนคอนกรีตเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความไม่แข็งแรงของโครงสร้างบ้าน การป้องกันได้โดยการระมัดระวังตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ นั่นก็คือการเทพื้นคอนกรีตหรือพื้นที่บริเวณรอบบ้านให้มีความทน โดยเลือกใช้พื้นคอนกรีตที่มีความทนทานสูง รวมถึงควรจะมีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับเทคอนกรีตบริเวณพื้นบ้านด้วยการถมดินให้แน่น ก่อนจะเริ่มเทคอนกรีตลงบริเวณบ้าน ซึ่งรวมถึงบริเวณที่จอดรถ หรือส่วนอื่นๆด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับบ้านทรุดตัวหรือใต้บ้านมีรูหรือโพรงขนาดใหญ่ ก็ควรจะติดต่อหาทีมงานช่างผู้มีประสบการณ์ และเข้าแก้ไขในทันที เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่อื่นๆ โดนผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้

เขียนโดย Con Mueangsak

โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon