บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ December 20, 2023
ผนังสมาร์ทบอร์ด บ้านรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้มักนิยมนำแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ชนิดนี้มาใช้ทำฝาผนังทดแทนผนังที่ก่อด้วยอิฐ ซึ่งหลายคนคงจะมีข้อสงสัยตามมา เมื่อนำวัสดุสองชนิดนี้มาเปรียบเทียบกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความแข็งแรง การรับน้ำหนักวัตถุที่จะนำมาติดตั้งที่ฝาผนัง เช่น กรอบรูป เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินต่างๆ การกั้นเสียงจากภายนอกไม่ให้เข้ามาภายในหรือจากภายในออกไปสู่ภายนอก การทนต่อสภาวะอากาศภายนอกที่มีความผันแปรตลอดเวลา ทั้งแดด ฝน ลมกรรโชกแรง และที่สำคัญคือเรื่องของความปลอดภัย เช่น ขโมย หรือเกิดเหตุเพลิงไหม้ เพราะผนังควรที่จะมีความแข็งแรงและทนความร้อน รวมทั้งทนไฟนานพอที่ทุกคนในบ้านจะหนีได้ทันท่วงที
“อิฐ” เป็นวัสดุดั้งเดิมที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีและนิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยอดีต ซึ่งในขั้นตอนการก่อผนังด้วยอิฐจำเป็นที่จะต้องอาศัยแรงงานช่างที่มีฝีมือ ในปัจจุบันนี้การจะหาช่างแรงงานที่มีฝีมือก็ยากมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่างที่ขาดความชำนาญทำให้เวลาก่อผนัง อาจจะได้ผนังที่ไม่สวยงาม ดังนั้น เรามาลองดูข้อเปรียบเทียบของวัสดุระหว่าง “ผนังสมาร์ทบอร์ด” และ “อิฐ” ว่าทั้งสองประเภทนี้กันดีกว่า เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้ผนังบ้านแสนสวยของคุณ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการเลือกวัสดุในการก่อสร้างผนังบ้านประเภทอิฐ กรณีที่คุณตัดสินใจสร้างบ้านด้วยอิฐ โดยจะเปรียบเทียบให้เห็นระว่างสองประเภทด้วยกันก็คือ อิฐมอญ หรือ อิฐคอนกรีต รวมไปถึงวิธีดูแลผนังบ้านอย่างไรไม่ให้ขึ้นรา มาฝากกันด้วย
ความแข็งแรง
คนส่วนมากมักจะมองกว่าการก่อผนังด้วยอิฐ ย่อมมีความแข็งแรงสามารถรองรับน้ำหนักได้มากกว่าการใช้แผ่นสมาร์ทบอร์ดอยู่แล้ว เพราะสามารถที่จะรับน้ำหนักของเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน หรือของที่จะนำมาแขวนผนังได้แทบจะทั้งหมด รวมถึงการกรุผิวด้วยวัสดุที่น้ำหนักมาก อย่างเช่น กระเบื้อง หรือ หินแกรนิตได้ โดยไม่ต้องมานั่งวิตกกังวลว่าจะทำให้ตกหล่นลงมา ซึ่งน้ำหนักต่อจุดที่ผนังก่ออิฐจะสามารถรับได้อยู่ที่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (ทั้งนี้ เรื่องความสามารถในการรับน้ำหนักของอิฐอาจจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ และกรรมวิธีของผู้ผลิตแต่ละรายประกอบด้วย) ในขณะเดียวกันการแขวนของบนผนังสมาร์ทบอร์ด ที่ความหนา 8 มม. ด้วยการใช้พุกพลาสติกผีเสื้อ PT-13 ที่ใช้งานควบคู่กับตะปูเกลียวก็จะสามารถรองรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 80 กิโลกรัมต่อจุดเลยทีเดียว (กรณีที่ตอกตะปูเพื่อแขวนของทั่วไป เช่น กรอบรูป นาฬิกา รูปภาพ ฯลฯ น้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 กิโลกรัม)
การเก็บเสียงรบกวน
ถ้าเป็นการกั้นห้องภายในทั่วไป ควรมีค่า STC 38-40 โดยประมาณ กรณีที่เลือกใช้แผ่นสมาร์ทบอร์ดหนา 8 มม.ติดตั้งไปบนโครงคร่าวสำเร็จจะมีค่าในการเก็บเสียงรบกวนได้ประมาณ STC 39 แต่หากเป็นผนังก่ออิฐมอญครึ่งแผ่นฉาบปูนสองด้าน มีค่าเก็บเสียงอยู่ที่ STC38
ประสิทธิภาพในการกันความร้อน
ประเทศไทยเราเป็นเมืองร้อน ดังนั้น การเลือกใช้ผนังก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการกันความร้อนควบคู่ไปด้วย การใช้แผ่นสมาร์ทบอร์ดหนา 8 มิลลิเมตรติดตั้งกับโครงคร่าวสำเร็จ จะให้ค่าการกันความร้อนประมาณ R = 0.5 (m2 K/W) แต่ถ้าเป็นผนังก่ออิฐมอญครึ่งแผ่นฉาบปูนสองด้าน จะมีค่าการกันความร้อนอยู่ที่ประมาณ R = 0.3 (m2 K/W) จึงเห็นได้ว่าผนังก่ออิฐครึ่งแผ่นฉาบปูนสองด้านจะทำให้ภายในบ้านมีอุณหภูมิสูงมากกว่าการใช้แผ่นสมาร์ทบอร์ด ซึ่งถ้าจะว่ากันโดยหลักธรรมชาติแล้วอิฐมอญเป็นวัสดุที่มีการสะสมความร้อนอยู่ในตัวเองค่อนข้างสูง การใช้ผนังก่ออิฐก็จะยิ่งทำให้บ้านร้อนในช่วงกลางวันจนถึงหัวค่ำ ถ้าหากว่าคุณไม่ต้องการให้บ้านร้อนมากเกินไป ก็สามารถทำได้ด้วยการก่อผนังอิฐสองชั้นแล้วเว้นช่องอากาศเอาไว้ตรงกลาง ความร้อนจะเข้ามาสะสมอยู่ที่ช่องนี้ก่อน ไม่ส่งผ่านความร้อนโดยตรงเข้าสู่ตัวบ้าน แต่ถ้าเลือกทำวิธีนี้ก็จะมีข้อเสียคือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านก็จะลดน้อยลง และยังเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างอีกด้วย หากใช้เป็นผนังสมาร์ทบอร์ดก็สามารถใช้ควบคู่ไปกับการใช้ฉนวนกันความร้อนเพื่อป้องกัน ความร้อนที่จะแผ่เข้าสู่ตัวบ้าน และยังช่วยประหยัดแอร์ทำให้ไม่ต้องเสียค่าไฟประหยัดเงินได้ในระยะยาวอีกด้วย
ประสิทธิภาพในการกันความชื้น
ช่วงที่เกิดฝนตกแน่นอนอยู่แล้วว่าผนังที่อยู่ด้านนอกจะต้องรองรับน้ำฝนที่ซัดสาดเข้ามาปะทะที่ผนัง แผ่นผนังสมาร์ทบอร์ดจะมีคุณสมบัติพิเศษคือการทำน้ำไม่เปื่อยยุ่ย ไม่บวม น้ำไม่ซึมผ่านไปอีกด้านหนึ่ง ฉะนั้นเมื่องมีการติดตั้งผนังสมาร์ทบอร์ดเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงแนะนำว่าให้ทาสีรองพื้นปูนเก่า 1 ชั้นและทาทับด้วยสีน้ำอะคริลิกชนิดทาภายนอกอย่างน้อย 2 ชั้นเพื่อการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น ส่วนถ้าเป็นผนังก่ออิฐซึ่งเป็นวัสดุที่มีการดูดซึมน้ำสูง จึงต้องใช้ควบคู่ไปกับการฉาบปูนทับหน้าผนังด้านที่ต้องสัมผัสกับภายนอก เพื่อกันไม่ให้น้ำหรือความชื้นซึมผ่านเข้ามาภายในบ้านจนเกิดปัญหาได้
จากข้อมูลทั้งหมดเราจะเห็นได้ว่าการใช้ผนังสมาร์ทบอร์ดสามารถนำมาใช้ทดแทนการใช้ผนังก่ออิฐได้อย่างดีเยี่ยม หมดปัญหาข้อกังวลต่างๆ ที่มากและดีไปกว่านั้นก็คือ “สมาร์ทบอร์ด” เป็นวัสดุที่เจ้าของบ้านสามารถรื้อถอนเพื่อนำไปประกอบติดตั้งใหม่ได้ไม่ว่าคุณจะก่อสร้างบ้านหลังใหม่ หรือปรับปรุงบ้านหลังเดิมก็นำไปใช้งานได้ จึงทำให้เป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย
สิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการก่อสร้างผนังบ้าน
เมื่อเราได้ทราบข้อมูลความแตกต่างระหว่างสมาร์ทบอร์ดและอิฐกันไปแล้ว หากคุณตัดสินใจเลือกผนังอิฐในการก่อสร้างผนังแน่นอนว่าต้องมีคำถามตามมาว่าจะเลือกอิฐแบบไหนดี ระหว่างอิฐมอญ หรือ อิฐคอนกรีต รวมไปถึงจะมีเทคนิคการดูแลผนังอย่างไรไม่ให้ขึ้นรามาฝากกัน ถ้าพร้อมแล้วลองไปดูกันเลย
อิฐมอญ หรือ อิฐคอนกรีต อันไหนเหมาะกับการก่อสร้างบ้านมากกว่ากัน
การเลือกวัสดุในการก่อสร้างบ้านนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นอิฐมอญหรืออิฐคอนกรีตก็ต้องเลือกให้ถูกต้อง เพื่อประหยัดทรัพยากรและสร้างความเหมาะสมกับบ้านที่กำลังจะก่อสร้าง ซึ่งการเลือกวัสดุที่เหมาะสมสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัสดุที่ใช้สร้างผนังบ้านซึ่งเป็นส่วนสำคัญของบ้าน โดยมีความแตกต่างของอิฐมอญและอิฐคอนกรีต รวมไปถึงข้อดีและข้อเสีย ดังนี้
1.อิฐมอญ
อิฐมอญ คือ อิฐที่ผลิตจากดินเหนียวผสมกับแกลบและน้ำ แล้วนวดกวนให้เข้ากันและเทลงในแม่พิมพ์ จากนั้นนำไปเผาและตัดเป็นชิ้นยาวเพื่อใช้งานต่อไป ขนาดมาตรฐานของอิฐมอญคือ กว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 14 เซนติเมตร และหนา 3 เซนติเมตร
- ข้อดี : อิฐมอญเป็นวัสดุที่นิยมและใช้กันมานาน มีความแข็งแรงและทนทานกว่าอิฐชนิดอื่นๆทั่วไป ไม่มีปัญหาในการฉาบแล้วเกิดการร้าว เพราะมีมวลที่แน่น แถมยังมีราคาที่ถูกกว่าอิฐคอนกรีตอีกด้วย
- ข้อเสีย : การดูดซึมน้ำของอิฐมอญไม่ดีเท่ากับอิฐคอนกรีต เนื่องจากความหนาแน่นของมวลที่มากกว่า ทำให้ไม่เหมาะสมสำหรับการก่อผนังห้องน้ำ และต้องใช้จำนวนอิฐมากกว่าอิฐคอนกรีต
2.อิฐคอนกรีต
อิฐคอนกรีต คือ วัสดุที่มาจากการผสมผสานระหว่างปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ กับวัสดุอื่น ๆ เช่น ทราย ปูนขาว น้ำ ยิบซั่ม และสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรเข้าช่วย โดยนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ โดยมีส่วนประกอบแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด อิฐคอนกรีตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในปัจจุบัน
- ข้อดี: อิฐคอนกรีต มีน้ำหนักมากกว่าอิฐมอญ แต่มีความหนาแน่นสูง ทนไฟและความร้อนดีกว่า ราคาถูกกว่าอิฐมอญในราคาต่อชิ้น แต่ถ้าเทียบด้วยขนาดการใช้งาน จะเห็นว่าอิฐคอนกรีตถือว่าถูกกว่าอิฐมอญ
- ข้อเสีย : อิฐมอญไม่ค่อยทนทาน
เทคนิคการดูแลผนังบ้านอย่างไรไม่ให้ขึ้นรา
หนึ่งในปัญหาของการดูแลรักษาบ้านเมื่อเวลาผ่านไปคือ ผนังบ้านเริ่มเกิดปัญหาและเป็นที่น่าระวังต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ผนังบ้านที่เป็นรามีภาวะการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเชื้อรา อาจเกิดความเสียหายต่อสิ่งของและเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ผิวหนังหรืออาการทางเดินหายใจได้ การตรวจสอบและบำรุงรักษาผนังบ้านอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาดังกล่าวลงได้เราจึงมีเทคนิคแก้ปัญหาผนังบ้านเป็นรามาฝากกัน
- วิธีที่หนึ่ง: การทาผนังด้วยสีอะคริลิคประเภทที่ไม่มีโมเลกุลของสีหนาแน่นมาก โดยสามารถให้ความชื้นระเหยออกมาสู่ภายนอกได้ (หรือเรียกว่าสีหายใจได้) ภายในบ้านก็ต้องมีการระบายอากาศได้ดี
- วิธีที่สอง: ทาวัสดุกันซึมจำพวกอีพ็อกซีสำหรับใส่ที่ผนังด้านในโดยเฉพาะ (แต่จะค่อนข้างหาซื้อยาก เนื่องจากผู้ผลิตมีน้อย) แล้วค่อยทาสีภายในหรือปูกระเบื้องตกแต่งตามความชอบ
การเลือกวัสดุในการก่อสร้างผนังบ้านนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อให้บ้านมีคุณภาพและเหมาะสมกับสภาพอากาศในพื้นที่ ควรพิจารณาความต้องการของผู้อยู่อาศัย โดยเน้นความแข็งแรง ทนทาน และเหมาะสมกับสภาพอากาศในพื้นที่ การใช้วัสดุกันชื้นและการระบายอากาศอย่างเพียงพอสามารถป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อราและป้องกันสุขภาพผู้อยู่อาศัยได้ หากต้องการจ้างผู้รับเหมาในการก่อสร้างบ้าน ควรเลือกผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จริง
โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon