+6687 678 6606 [email protected]

ผนังบ้าน เป็นราเพราะความชื้นจากการสร้างผนังติดแนวรั้ว แก้ไขได้อย่างไรมาดูกัน

ผนังบ้าน การต่อเติมให้ชิดแนวรั้วหรือบางบ้านใช้แนวรั้วเป็นผนังบ้านไปด้วยเลยนั้น เรามักจะพบเห็นในหมู่ของคนที่ซื้อบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์ที่มีเนื้อค่อนข้างจำกัด  ซึ่งหากจะว่ากันตามหลักกฎหมายควบคุมอาคาร ผนังอาคารที่เป็นลักษณะผนังทึบจะต้องห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 50 ซม. (หรือไม่น้อยกว่า 1 เมตร สำหรับบ้านที่อยู่ในเขตกทม.ที่มีพื้นที่ใช้สอยเกิน 300 ตร.ม.) แต่หากมีความประสงค์จะสร้างชิดเขตที่ดินต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน ฉะนั้นเจ้าของบ้านท่านใดต้องการที่จะต่อเติมก็ควรที่จะเรียนรู้เรื่องกฎหมายและดำเนินการให้ถูกขั้นตอน เพื่อป้องกันการฟ้องร้องกันในภายหลัง เชื่อเหอะว่าการฟ้องร้องกันด้วยเรื่องนี้หาข้อสรุปได้ยากแถมยังเสียทั้งเวลาและเงินไปโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วยค่ะ

คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านต่อได้เลย ผนังสมาร์ทบอร์ด ทางเลือกใหม่สำหรับคนที่ไม่ชอบผนังอิฐ

ผนังบ้าน

อย่างไรก็ดีการสร้างผนังอาคารชิดแนวรั้วนอกจากจะได้บริเวณพื้นที่ใช้สอยในบ้านเพิ่มขึ้นซึ่งนับว่าเป็นของดีที่แต่ละบ้านต้องการ ในทางกลับกันก็มีข้อเสียด้วยก็คือการสร้างผนังอาคารชิดแนวรั้วมักจะหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องความชื้นที่ผนัง มีราขึ้น สีถลอก หรือกระเบื้องเกิดการหลุดล่อนไปเสียไม่ได้ สาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากน้ำฝนที่ตกลงมาสามารถไหลเข้าไปขังในร่องระหว่างผนังกับรั้ว เมื่อเข้าไปสะสมปริมาณเยอะๆก็จะทำให้ผนังบวมขึ้น  ประกอบกับผนังก่ออิฐด้านที่ชิดกับรั้วก็ไม่สามารถที่จะนำปูนมาฉาบปิดกันน้ำได้ และความชื้นจากดินแทรกเข้าไปตามรอยต่อระหว่างพื้นกับผนังจึงส่งผลให้เกิดปัญหาอย่างที่กล่าวมาในข้างต้น

การแก้ปัญหาในเบื้องต้นเจ้าของบ้านควรติดตั้ง Flashing (จะเป็นวัสดุประเภทสังกะสี/เมทัลชีท/สแตนเลส) พับเป็นลักษณะตัวแอล ครอบไปยาวตลอดแนวระหว่างผนังกับรั้ว เพื่อที่จะได้ป้องกันน้ำฝนไม่ให้ไหลซึมเข้าไปในร่อง ในส่วนของผนังที่เกิดความชื้นไปแล้ว ก็ควรรื้อกระเบื้องที่หลุดล่อนหรือลอกสีที่บวมพองออกมาเสียก่อน จากนั้นก็ก็ทำการแก้ไขโดยมี 2 แนวทางแก้ไขที่ให้เลือกดำเนินการ คือ

  • วิธีแรก : ให้ทาผนังด้วยสีอะคริลิกประเภทที่ไม่มีโมเลกุลของสีหนาแน่นมาก สามารถให้ความชื้นระเหยออกมาสู่ภายนอกได้ (หรือเรียกว่าสีหายใจได้) ทั้งนี้ภายในบ้านก็ต้องมีการระบายอากาศได้ดีควบคู่กันไปด้วย
  • วิธีสอง : ทาวัสดุกันซึมจำพวกอีพ็อกซีสำหรับทาที่ผนังด้านในโดยเฉพาะ (แต่จะค่อนข้างหาซื้อยาก เนื่องจากมีผู้ผลิตน้อยราย ส่วนใหญ่แล้วจะมีเป็นวัสดุกันซึมประเภทที่ทาด้านโดนความชื้นเสียมากกว่า) หลังจากนั้นค่อยทาสีภายในหรือปูกระเบื้องตกแต่งตามความชอบ

ผนังบ้าน

กรณีเพิ่งเริ่มต้นที่จะต่อเติมทำพื้นและผนังใหม่ แนะนำว่าควรหล่อคอนกรีตพื้นและผนังให้เป็นเนื้อเดียวกันคล้ายกับการทำบ่อน้ำ โดยผสมน้ำยากันซึมเข้าไปรวมกับเนื้อคอนกรีตด้วย และความสูงของผนังที่หล่อก็ต้องสูงอย่างน้อย 1 เมตรเพื่อป้องกันปัญหาน้ำรั่วซึมที่ผนังและลดปัญหาความชื้นจากดิน ส่วนเรื่องความชื้นจากดินที่ขึ้นมาในช่วงช่องว่างระหว่างผนังและรั้วก็จะยังคงมีอยู่ไม่สามารถหาทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะฉะนั้นจึงควรหล่อผนังให้ห่างออกจากรั้วอย่างน้อย 10 ซม.เพื่อที่จะได้ยื่นมือหรือลูกกลิ้งไปทาวัสดุกันซึมที่ผนังด้านที่ติดกับรั้วได้  (การทาบริเวณนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความชื้นหรือกันซึมได้ดีกว่าการทาผนังด้านในบ้าน) ส่วนผนังที่เหลือนั้นก็สามารถก่ออิฐตามความสูงที่ต้องการ แล้วด้านบนของผนังให้ครอบปิดช่องว่างด้วย Flashing เพื่อป้องกันฝนอีกชั้นหนึ่ง

หากบ้านรั้วเป็นของบ้านเราเองไม่จำเป็นต้องไปใช้ร่วมกับใคร หรือ กรณีที่เพื่อนบ้านอนุญาตให้ใช้รั้วร่วมกันได้ ก็อาจจะเลือกใช้เป็นวิธีทุบรั้วแล้วก่อผนังทึบขึ้นมาใหม่แทนที่รั้วเดิม แต่อย่าลืมเรื่องผนังจะต้องไม่ล้ำเส้นเข้าไปในเขตที่ดินข้างเคียง ก็จะช่วยแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างผนังกับรั้วไปได้เช่นกัน

คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านต่อได้เลย การออกแบบบ้าน ให้ถูกหลักฮวงจุ้ยได้ง่าย ๆ 

ผนังบ้าน

ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่าการสร้างผนังอาคารชิดริมรั้วมักจะต้องเจอปัญหาหลักๆคือ เรื่องน้ำและความชื้น ซึ่งในการป้องกัน-แก้ไขจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังไม่สามารถการันตีได้ว่าจะแก้ปัญหาได้ 100% รวมถึงพื้นที่โดยรอบที่ดินส่วนมากแล้วจะเป็นแนวท่อระบายน้ำ การต่อเติมอาคารทับแนวท่อระบายน้ำจะส่งผลให้ฝาท่อเข้ามาอยู่ในบ้าน แน่นอนอยู่แล้วว่าย่อมต้องมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ตามมา โดยเฉพาะกรณีในส่วนที่ต่อเติมมีช่องระบายอากาสน้อย ฉะนั้นหากไม่จำเป็นจริงๆไม่ควรสร้างผนังอาคารชิดแนวรั้ว ควรต้องเว้นอย่างน้อย 50 ซม. หรือ 1 เมตรจากแนวของที่ดิน จะได้ช่วยลดปัญหาเรื่องความชื้นที่บริเวณผนัง ที่สำคัญยังถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย และอย่าลืมไม่ควรก่อผนังทับแนวท่อระบายน้ำใต้ดิน เพราะในอนาคตคุณอาจจะต้องเสี่ยงทั้งเรื่องกลิ่นและโอกาสในการรั้วซึม