บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ September 21, 2023

บ้านสร้างเอง 4 ขั้นตอนที่คุณต้องรู้ก่อนสร้างบ้านใหม่

บ้านสร้างเอง หรือ การสร้างบ้านใหม่ย่อมเป็นความฝันของใครหลายคนที่ต้องการสร้างสรรค์บ้านให้ออกมาได้สวยตามแบบที่ต้องการ ซึ่งกว่าจะได้ผลสำเร็จเป็นบ้านสักหลังต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย สิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือตัวของเจ้าของบ้านเองที่จะต้องร่วมรู้และร่วมตัดสินใจในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การออกแบบบ้าน การยื่นขออนุญาตปลูกสร้าง การควบคุมงานก่อสร้าง แต่ใช่ว่าจะมีแค่เจ้าของบ้านที่มีส่วนร่วมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายฝ่ายที่จะต้องมาช่วยกันสร้างบ้านในฝันของคุณให้เป็นจริง เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่าใครบ้างที่จะเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการสร้างบ้านให้กับคุณ


1. ขั้นตอนในการออกแบบบ้าน

ขั้นตอนในการออกแบบบ้าน

ขั้นนี้สถาปนิกจะเข้ามามีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุด เพราะสถาปนิกจะต้องรวบรวมข้อมูลว่าเจ้าของบ้านมีความต้องการบ้านแบบไหน กี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ แล้วก็นำสิ่งที่เจ้าของบ้านต้องการมาออกแบบให้ตรงกับสไตล์ของเจ้าของบ้านมากที่สุด รวมทั้งต้องนำเสนอไอเดียใหม่ เพื่อให้เจ้าของบ้านได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นแล้วสถาปนิกจะเข้ามามีส่วนช่วยในการประสานงานกับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น วิศวกรโครงสร้าง, วิศวกรไฟฟ้า, วิศวกรสุขาภิบาล, นักออกแบบตกแต่งภายใน, นักออกแบบตกแต่งสวน และนักออกแบบระบบงานอื่น ๆ เป็นต้น แล้วสถาปนิกเองก็จะมีส่วนในการช่วยประมาณงบประมาณก่อสร้างให้กับเจ้าของบ้านด้วย เพื่อที่จะได้ออกแบบให้สอดคล้องกับงบประมาณที่เจ้าของบ้านได้ตั้งไว้

ผู้มีส่วนร่วม : เจ้าของบ้าน สถาปนิก วิศวกรด้านต่าง ๆ นักออกแบบตกแต่งภายใน นักออกแบบตกแต่งสวน นักออกแบบงานระบบอื่น ๆ เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบสารสนเทศ ระบบพลังงาน


2. ขั้นตอนการขออนุญาตปลูกสร้างบ้าน

ขั้นตอนการขออนุญาตปลูกสร้างบ้าน

ในขั้นนี้เจ้าของบ้านสามารถที่จะยื่นขออนุญาตได้ด้วยตัวเอง หรือว่าถ้าไม่สะดวกจะมอบหมายให้สถาปนิกไปยื่นขออนุญาตให้ก็ได้ เพื่อความสะดวกหากมีกรณีที่ต้องทำการแก้ไขแบบ สถาปนิกจะได้ช่วยดำเนินการประสานงานแก้ไขให้ทันทีและรวดเร็วกว่าที่เจ้าของบ้านจะนำกลับมาให้สถาปนิกแก้ให้อีกครั้ง แล้วจึงนำไปยื่นใหม่ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาและเสียเงินในการดำเนินการค่อนข้างมาก

ผู้มีส่วนร่วม : เจ้าของบ้าน สถาปนิก เจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา / กองช่าง


3. ขั้นตอนการก่อสร้างบ้าน

ขั้นตอนการก่อสร้างบ้าน

มาขั้นนี้จะต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านในการที่จะคัดเลือกบริษัทรับสร้างบ้านหรือผู้รับเหมาด้วยตัวของคุณเอง หรือถ้าไว้วางใจจะให้สถาปนิกติดต่อดูแลคัดเลือกก็ได้เช่นกัน เพราะส่วนมากสถาปนิกจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการคัดเลือกได้ดีกว่า สถาปนิกบางท่านอาจจะมีทีมงานเป็นของตัวเองก็จะยิ่งเพิ่มความสะดวกในการติดต่อประสานงานมากยิ่งขึ้น

หลักการในการเลือกคนที่จะมาสร้างบ้านจะต้องดูจากคุณภาพของงานที่ผ่านมาทั้งเรื่องของฝีมือ การเก็บรายละเอียด สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ ความรับผิดชอบ ต้องไม่เคยมีประวัติในการทิ้งงานเด็ดขาด

ผู้มีส่วนร่วม : เจ้าของบ้าน สถาปนิก บริษัทรับสร้างบ้าน/ผู้รับเหมา โฟร์แมน และช่างก่อสร้าง


4. ขั้นตอนสร้างบ้านแล้วเสร็จ จนถึงรับมอบบ้าน

ขั้นตอนสร้างบ้านแล้วเสร็จ จนถึงรับมอบบ้าน

สำหรับขั้นตอนนี้เจ้าของบ้านจะต้องเข้าทำการตรวจรับมอบบ้านร่วมกันกับบริษัทรับสร้างบ้าน/ผู้รับเหมา ซึ่งควรจะเชิญให้สถาปนิกมาช่วยในการตรวจรับบ้านด้วย เพื่อที่จะได้ช่วยเจ้าของบ้านตรวจสอบหาจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไข หรือการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ถูกต้องตามแบบที่ได้มีการออกแบบไว้หรือเปล่า

ซึ่งปัจจุบันก็มีบริษัทที่รับตรวจบ้านก่อนที่เจ้าของบ้านจะรับมอบบ้านอยู่หลายบริษัท เจ้าของบ้านอาจจะเลือกใช้บริการจากบริษัทเหล่านี้ก็ได้ เพราะการตรวจบ้านนั้นบางครั้งเจ้าของบ้านไม่มีความรู้ความชำนาญที่เพียงพอก็จะไม่ทราบว่าจะต้องตรวจสอบอย่างไร เช่น การวัดระดับน้ำทิ้งในห้องน้ำ หรือลานซักล้าง, การทดสอบระบบไฟฟ้า, ความแน่นของกระเบื้องปูพื้นที่เจ้าของบ้านจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบหลังคาว่ามีรอยรั่วหรือมุงกระเบื้องไม่สนิทหรือไม่ เพราะเมื่อไหร่ที่เจ้าของบ้านรับมอบบ้านไปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ ถ้าไม่ได้เป็นส่วนที่ทางบริษัทรับประกันไว้ แน่นอนอยู่แล้วว่าก็ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านที่ต้องมารับผิดชอบเองในภายหลัง ฉะนั้น การจ้างบริษัทมาดูแลให้จึงเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง

ส่วนเรื่องการขอติดตั้งมิเตอร์น้ำ-ไฟ เจ้าของบ้านสามารถที่จะไปดำเนินการขอที่การไฟฟ้าหรือประปาได้เองเลย แต่ควรเริ่มขอตั้งแต่ช่วงที่มีการก่อสร้างบ้านใหม่ ๆ เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว หรือจะมอบหมายให้ทางบริษัทรับสร้างบ้าน/ผู้รับเหมาไปดำเนินการแทนก็ได้ด้วยเช่นกัน

ผู้มีส่วนร่วม : เจ้าของบ้าน สถาปนิก บริษัทรับสร้างบ้าน/ผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทรับตรวจบ้าน หน่วยงานด้านทะเบียนบ้าน และหน่วยงานที่ติดตั้งมิเตอร์น้ำ-ไฟ


จะเห็นได้ว่า การก่อสร้างบ้านหนึ่งหลังจะต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาร่วมอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างแทบทุกขั้นตอน ดังนั้น การติดต่อประสานงานจึงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ส่วนตัวเจ้าของบ้านเองก็จะต้องมีความรู้ในแต่ละขั้นตอนไว้บ้าง เพื่อที่เวลาสั่งการหรือดำเนินการจะได้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย เพราะถ้าหากวางใจให้คนอื่นดำเนินการแทนทั้งหมด เจ้าของบ้านเองอาจจะไม่ได้บ้านในฝันตามที่ต้องการก็ได้ แต่หากคิดว่าไม่มีความชำนาญเพียงพอก็อาจจะหาคนที่ไว้ใจหรือผู้เชี่ยวชาญไว้สักคน เพื่อจะได้คอยให้ปรึกษาและแก้ไขปัญหาที่เจ้าของบ้านเองไม่สามารถแก้ไขได้ก็จะเป็นตัวช่วยที่ดีด้วยเช่นกัน


รวมเรื่องที่ต้องรู้ก่อนปลูกบ้าน และบ้านสำเร็จรูปดีกว่าอย่างไร ?

การสร้างบ้านเองเป็นเรื่องที่สำคัญและมีการลงทุนสูง เพราะฉะนั้นการวางแผนและการเลือกที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับบ้านของคุณเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก การออกแบบบ้านต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงถึงความต้องการของคุณและครอบครัว นอกจากนี้ การเลือกวัสดุสร้างบ้านที่มีคุณภาพและทนทานต่อก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะวัสดุสร้างบ้านที่มีคุณภาพจะช่วยให้บ้านของคุณมีความทนทานต่อสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และยังช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น ไฟไหม้ และน้ำท่วม อีกด้วย

เรื่องสำคัญอีกเรื่อง นั่นคือ การเลือกผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างบ้าน เพราะหากต้องการให้บ้านของคุณมีคุณภาพและสวยงาม และเป็นไปตามแผนที่คุณต้องการ ดังนั้น คุณควรเลือกผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างบ้าน เพื่อให้คุณมั่นใจได้ว่าจะได้บ้านที่ตอบสนองความต้องการและเป็นไปตามแผนที่คุณวางไว้


เรื่องที่ควรรู้ก่อนการสร้างบ้านเอง

การสร้างบ้านเองอาจเกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น บ้านทรุด บ้านพัง บ้านถล่ม โครงสร้างมีปัญหา หรืองบประมาณเกิน ดังนั้น เจ้าของบ้านควรตรวจสอบและสอดส่องขั้นตอนการสร้างบ้านแต่ละขั้นตอน นี่เป็น เรื่องที่ควรรู้ก่อนสร้างบ้านเอง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาและความยุ่งยากในอนาคต

  • ปรับพื้นดินก่อนเริ่มก่อสร้าง – การสร้างบ้านเริ่มต้นด้วยการปรับพื้นที่ให้เรียบและแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของบ้านได้ โดยควรถมดินให้แน่นและปรับความสูงของพื้นที่ให้สูงกว่าระดับถนนและท่อระบายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อน้ำท่วมหนัก
  • วางฐานรากและโครงสร้างหลัก – การวางโครงสร้างบ้านให้ดีตั้งแต่ต้นจะช่วยให้รากฐานของบ้านแข็งแรง โดยการลงเสาเข็มและการหล่อตอม่อ รวมถึงการฉีดน้ำยากันปลวกระหว่างก่อสร้าง จะช่วยให้โครงสร้างหลักสามารถรองรับน้ำหนักได้ นอกจากการวางระบบภายในบ้าน เช่น ระบบน้ำทิ้ง ท่อประปา และบ่อพักต่าง ๆ ควรจดหรือถ่ายรูปตำแหน่งเอาไว้ เผื่อใช้เป็นข้อมูลหากต้องมีการซ่อมแซม
  • หลังคาและโครงสร้างบันได – หลังจากเสร็จสิ้นการก่อสร้างโครงสร้างหลักของบ้านแล้ว ขั้นต่อไปคือการติดตั้งหลังคา การเลือกหลังคาที่เหมาะสมสามารถช่วยให้การก่อสร้างบ้านเป็นไปได้อย่างราบรื่น รวมถึงการก่อสร้างโครงสร้างบันไดและเก็บงานโครงสร้างส่วนอื่น ๆ
  • ผนังบ้าน วงกบ – เมื่อก่อผนังแล้ว ต้องติดตั้งวงกบประตูหน้าต่าง และฉาบผนังให้เรียบสม่ำเสมอ โดยใช้ความชำนาญและพิถีพิถัน รวมถึงต้องระวังการติดตั้งระบบต่าง ๆ ฝังไปในผนัง ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบประปา ช่องเซอร์วิส และการติดตั้งฝ้าเพดานตามความสูงที่กำหนด
  • งานตกแต่งบ้าน – การสร้างบ้านต้องมีการทาสี ปูกระเบื้อง ติดวอลเปเปอร์ ซึ่งควรคำนึงถึงคุณภาพ ระยะเวลาการใช้งาน และความปลอดภัย การตกแต่งบ้านยังครอบคลุมถึงการติดตั้งบานประตู หน้าต่าง และระบบแสงสว่าง ต้องตรวจสอบว่าติดตั้งได้ตามมาตรฐานหรือไม่

ประหยัดงบประมาณ ด้วยการสร้างบ้านสำเร็จรูป

บ้านสำเร็จรูป หรือ บ้านน็อคดาวน์ โครงสร้างของบ้านจะเป็นประเภทไม่มีเสาเข็ม ไม่มีคานไว้รับน้ำหนัก แต่จะใช้ผนังบ้านในการรับน้ำหนัก ซึ่งเป็นที่นิยมด้วยราคาที่ถูกกว่าและสร้างได้รวดเร็ว บ้านน็อคดาวน์ยังคงมีการออกแบบที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ ดังนั้น บ้านน็อคดาวน์ จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างที่อยู่ ไม่ต้องรอสร้างบ้านใหม่ และเลือกได้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

บ้านน็อคดาวน์ยังมีข้อดีอื่น ๆ ที่คุณสามารถพิจารณาได้ เช่น การสร้างบ้านน็อคดาวน์เป็นการสร้างบ้านที่มีส่วนสำคัญในการลดการใช้พลังงานและการป้องกันการเกิดสิ่งแวดล้อม โดยบ้านน็อคดาวน์จะเลือกใช้วัสดุที่มีความคุ้มค่า ราคาไม่แพง ทำให้ราคาของบ้านน็อคดาวน์ถูกกว่าการสร้างบ้านทั่วไป แต่การใช้วัสดุที่คุ้มค่าต่ำนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้บ้านที่ไม่ดีหรือไม่สวยงาม ใช้เวลาสร้างน้อยมาก ๆ หรือบางบริษัทอาจจะมีบ้านน็อคดาวน์แบบสำเร็จรูปไว้ให้เลือกแล้ว ทั้งยังมีระบบสาธารณูปโภคมาให้

การเลือกบ้านสำเร็จรูปแบบนี้จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นที่บ้านน้อย หรือต้องการต่อเติมบ้านเพิ่มเติม ทั้งยังสามารถปรับขนาดและรูปแบบให้เข้ากับขนาดของพื้นที่ได้ นอกจากนี้ แบบบ้านน็อคดาวน์ไม่ต้องทำการขออนุญาตสร้าง เพราะไม่ถือว่าเป็นบ้านถาวร และได้บ้านที่สวยงามด้วย


หากคุณกำลังมองหาบ้านใหม่ อาจจะสงสัยว่าควรเลือกสร้างบ้านเองหรือซื้อบ้านสำเร็จรูปดีกว่า ก็แนะนำให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อน เนื่องจากการสร้างบ้านเอง คุณสามารถเลือกออกแบบที่ต้องการได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่า ถ้าต้องการบ้านที่จะเข้าอยู่ได้ทันทีและไม่ต้องเสียเวลาในการก่อสร้างมากนัก บ้านสำเร็จรูปก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีต่อคุณ และควบคุมงบประมาณได้

แต่ถ้ามีความตั้งใจ มีงบประมาณ และเวลาพอสมควร การสร้างบ้านเองอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งสามารถเลือกออกแบบบ้านตามสไตล์และความต้องการของคุณได้อย่างอิสระ และเมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ คุณก็จะได้บ้านที่ถูกใจ และตรงตามความต้องการ อย่างไรก็ตาม การสร้างบ้านเองก็มีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่าการซื้อบ้านสำเร็จรูป นอกจากนี้ ยังต้องเลือกทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญและสร้างงานเสร็จได้ตรงตามเวลา คุณจึงควรตระหนักถึงความต้องการและวางแผนให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจ

เขียนโดย Con Mueangsak

โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon