บ้านร้าว ลักษณะรอยร้าวที่คุณต้องระวัง ก่อนจะสาย
บ้านร้าว เป็นปัญหาโลกแตกที่คนมีบ้านต่างต้องเผชิญชนิดที่เรียกว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งรอยรั่ว รอยร้าว เพราะบางครั้งรอยร้าวที่เราพบอาจจะเกิดจากโครงสร้างข้างในของเสาและคาน ไม่ใช่เป็นแค่รอยร้าวของปูนฉาบที่ผิวหน้า เพราะฉะนั้นคุณควรจะหมั่นสังเกตดูลักษณะรอยร้าวบนผนังบ้านด้วยว่าเป็นรอยร้าวที่จะส่งผลต่อความแข็งแรงของบ้านหรือไม่ วันนี้เราจะมารู้จักลักษณะรอยร้าวต่างๆว่ามีอย่างไรบ้าง และสาเหตุของรอยร้าวมาจากอะไรค่ะ
คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านต่อ รอยแตก บนคอนกรีต บ้านเป็นโพรงและหลุดล่อน จะแก้ปัญหาอย่างไร?
1.รอยร้าวแบบผนังแตกลายงา
สาเหตุหลักเป็นไปได้ว่าจะเกิดจากที่ผสมปูนฉาบผนังไม่ดี หรือผนังเกิดการหดตัวจากที่อุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างช่วงกลางวันกับกลางคืนเป็นเวลานาน จนทำให้เนื้อปูนที่ฉาบไว้เกิดรอยร้าวแตกเป็นลายงา ซึ่งรอยร้าวลักษณะนี้ท่านเจ้าของบ้านไม่ต้องกังวลเพราะไม่ได้เกิดจากโครงสร้างแต่มาจากคุณภาพของงานก่อสร้าง
2.รอยร้าวที่ขอบวงกบประตูหน้าต่าง
รอยร้าวชนิดนี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นตามวงกบประตูหน้าต่างที่ทำมาจากไม้ เพราะไม้จะมีความยืดหดตัวได้ง่าย เมื่ออุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงบวกกับความชื้น ก็จะส่งผลให้ปูนที่ฉาบบริเวณนี้เกิดรอยร้าวขึ้นได้ ซึ่งรอยร้าวลักษณะนี้เช่นเดียวกับรอยร้าวผนังแตกลายงาคือเกิดจากคุณภาพของการก่อสร้าง แต่ไม่ส่งผลไปถึงความแข็งแรงของโครงสร้างบ้าน
3.รอยร้าวทแยงมุมบนผนัง
ถ้าเกิดรอยร้าวลักษณะทแยงมุมบนผนังขึ้น อย่านิ่งนอนใจเป็นอันขาดเพราะมันอาจจะเกิดการทรุดตัวของฐานรากหรือเสาบ้านที่อยู่ใกล้กับผนังบริเวณนั้น ซึ่งถือว่าเป็นรอยร้าวที่บ่งบอกสัญญาณเตือนถึงอันตรายของโครงสร้างบ้าน ต้องรีบดำเนินการแจ้งให้วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาตรวจสอบโครงสร้างของผนังช่วงที่เกิดรอยร้าวโดยเร่งด่วน
คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านต่อ พื้นบ้าน ดูแลอย่างไรให้ดูสวยและใหม่อยู่เสมอ
4.รอยร้าวบนผนังแนวดิ่ง
รอยร้าวลักษณะนี้จะเกิดจากการแอ่นตัวของพื้นและคานที่อยู่ใกล้ๆในบริเวณนั้น สาเหตุอาจมาจากมีการบรรทุกน้ำหนักที่มากเกินไป ซึ่งถ้าพบรอยร้าวที่เป็นแนวดิ่งควรต้องรีบเคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมากๆออกจากบริเวณนั้นในทันที แล้วติดต่อให้วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบการรับน้ำหนักของโครงสร้างพื้นที่บริเวณที่เกิดรอยร้าวในทันที
5.รอยร้าวบริเวณรอยต่อระหว่างผนังกับโครงสร้างเสาและคาน
รอยร้าวเช่นนี้จะเกิดจากขั้นตอนการก่อสร้างผนังที่ไม่ได้ทำการเสียบเหล็กหนวดกุ้งเพื่อยึดเกาะกับโครงสร้างเสาด้านข้าง หรือถ้ามีการเสียบก็ไม่แน่นพอ จึงส่งผลให้ผนังเกิดรอยร้าวระหว่างรอยต่อของเสา แม้ว่าจะไม่เป็นอันตรายตอนความแข็งแรงของโครงสร้าง ซึ่งเจ้าของบ้านอาจจะรู้สึกกังวลและทำให้ความสวยงามของบ้านลดน้อยลง แต่ถ้าพบรอยแตกร้าวบนพื้นภายในบ้านโดยเฉพาะบ้านสองชั้นบางครั้งอาจจะต้องรื้อฝ้าเพดาน เพื่อจะได้ตรวจสอบให้มั่นใจว่าท้องพื้นชั้นบนเกิดรอยร้าวด้วยหรือไม่ เพราะบ้านสมัยใหม่จะมีการก่อสร้างด้วยการปิดผิวเพื่อตกแต่งพื้นจึงไม่สามารถเห็นรอยร้าวบนพื้นได้
6.รอยร้าวใต้ท้องพื้นรูปกากบาท และรอยร้าวบริเวณกลางพื้น
เป็นอีกหนึ่งรอยร้าวที่น่ากลัวไม่แพ้กันเพราะส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่พื้นรับน้ำหนักมากจนเกินข้อจำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนภัยที่สำคัญก่อนพื้นจะพังทลายลงมาส่งผลให้เกิดอันตรายกับคนอยู่อาศัยภายในบ้านได้ ดังนั้นหากพบรอยร้าวลักษณะนี้บนพื้นบ้านควรที่จะต้องติดต่อให้วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาช่วยตรวจสอบโครงสร้างการรับน้ำหนักอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยของคนในครอบครัว
7.รอยร้าวเกิดสนิมบริเวณเหล็กเสริมใต้ท้องพื้น
การก่อสร้างที่ไม่ดีก็จะทำให้เกิดรอยร้าวเช่นนี้ขึ้น เพราะตอนก่อสร้างไม่ได้ทำการหนุนลูกปูนในขณะที่เทคอนกรีต และมักพบได้บ่อยๆกับพื้นหลังคาบนดาดฟ้าที่มีน้ำขัง ซึ่งน้ำสามารถที่จะซึมเข้ามาจนถึงเหล็กในแผ่นพื้นคอนกรีตได้ง่ายจนส่งผลให้เหล็กเสริมเกิดสนิม และขยายตัวดันให้คอนกรีตที่หุ้มเหล็กอยู่หลุดร่วงลงมา จนเห็นเป็นตะแกรงบริเวณที่ท้องพื้นด้านล่าง รอยร้าวลักษณะนี้จะทำให้ความสามารถที่รับน้ำหนักของพื้นได้น้อยลงจนเกิดอันตรายได้ ฉะนั้นจึงควรเรียกวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยตรวจสอบการรับน้ำหนักอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อความปลอดภัย
8.รอยร้าวแบบแตกลายงาบนพื้น
ในความเป็นจริงแล้วรอยร้าวแตกลายงานี้สามารถที่จะพบเห็นได้ตามพื้นทั่วไป ไม่ได้จำกัดแค่ต้องเป็นพื้นคอนกรีตเท่านั้น อาจจะเป็นพื้นหินขัด พื้นคอนกรีตขัดมัน พื้นกระเบื้อง ส่วนสาเหตุหลักน่าจะมาจากหินขัดและผิวของคอนกรีตมีความหนามากเกินไป ถึงรอยร้าวพวกนี้ไม่สามารถจะนำมาวัดความแข็งแรงของโครงสร้างพื้นได้ แต่ถ้าท่านเจ้าของบ้านรู้สึกไม่สบายใจจะให้วิศวกรเข้ามาช่วยตรวจสอบการรับน้ำหนักของพื้นส่วนนี้ด้วยก็ได้
คราวนี้คุณคงทราบแล้วว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นแต่ละรอยมีความสำคัญและบ่งบอกถึงสัญญาณบางอย่าง จะด้วยการเกิดจากโครงสร้างก็ดี หรือเกิดจากการก่อสร้างก็ดี ล้วนแล้วแต่ไม่น่าไว้วางใจทั้งสิ้น ทางที่ดีเมื่อพบรอยร้าวเกิดขึ้นควรเรียกวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบในทันทีดีกว่ารอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาแก้กันทีหลัง เข้าทำนองเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายค่ะ