บ้านทรุด ไม่พอโรงจอดรถยังทรุดอีก จะแก้ไขยังไงให้ใหม่เหมือนเดิม มาดูกัน
บ้านทรุด เป็นปัณญหาใหญ่ที่หลายคนต้องกุมขมับแล้ว หลายคนยังต้องมาประสบปัญหาที่จอดรถทรุดตัว เกิดรอยร้าว รอยแยกเกือบทุกหลังคาเรือนเข้าไปอีก เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าพื้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นพื้นที่แอ่งกะทะที่มีการทรุดตัวของผืนดินอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้บ้านพักอาศัยที่อยู่ในกรุงเทพฯและรอบๆอยู่บนชั้นดินอ่อน เพราะฉะนั้นถ้าบ้านคุณกำลังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเราก็มีวิธีแก้ไขปัญหานี้มาฝากกันค่ะ ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าสาเหตุที่ทำให้พื้นที่โรงจอดรถทรุดตัวเกิดจากสาเหตุอะไร เพื่อที่จะได้ไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากที่สุด โดยสาเหตุหลักๆจะมาจากพื้นที่โรงจอดรถส่วนใหญ่จะวางอยู่บนชั้นดินหรือที่เรียกว่า Slab on Ground ไม่มีการตอกเสาเข็มเพื่อรองรับอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้นถึงแม้จะมีการบดอัดดินที่ด้านใต้พื้นที่จอดรถให้ดีเยี่ยมขนาดไหน พื้นก็มีโอกาสทรุดตัวได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีการทำนา หรือทำไร่มาก่อน รวมทั้งพื้นที่ร่องสวนเก่า เพราะที่ดินบริเวณนี้ก่อนที่จะสร้างบ้านเรือนจะต้องถมใหม่ทั้งสิ้น ถ้าตอนถมทำไม่ดีตั้งแต่แรกจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมที่จอดรถจึงทรุดตัวลงไปด้วย ซึ่งกรณีที่โรงจอดรถทรุดตัวจึงทำให้เกิดความเสียหายตามขอบพื้น รวมทั้งรอยต่อกับตัวบ้านด้วย บางบ้านมีการแตกร้าวที่รุนแรงจนดูน่ากลัวมาก
คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านต่อเลย พื้นรอบบ้านทรุด ป้องกันได้ ด้วยการปิด “โพรงใต้บ้าน” ก่อนที่พื้นรอบบ้านจะทรุด
ส่วนวิธีการแก้ไข เราสามารถเลือกตามวิธีต่างๆดังต่อไปนี้
1.ทุกครั้งที่มีการก่อสร้างบ้านอย่าลืมที่จะเพิ่มเสาเข็มรองรับที่พื้นไว้ด้วย
โดยความยาวของเสาเข็มควรจะมีความยาวที่ใกล้เคียงกับตัวบ้านให้มากที่สุด วิธีนี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเวลาที่มีการทรุดตัวของบ้านกับที่จอดรถจะได้ทรุดตัวพร้อมๆกัน แต่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี ข้อเสียก็มีเช่นกัน คือจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่สูงขึ้น และรอยต่อที่อยู่ระหว่างถนนหน้าบ้านกับโรงจอดรถจะเกิดรอยแตกขึ้นจากสาเหตุของถนนทรุดตัว ก็ต้องแก้ไขด้วยการเทพื้รทำทางลาด (Ramp) เป็นต้น
2.ขั้นตอนการก่อสร้างพื้นโรงจอดรถเสริมด้วยเสาเข็มสั้นแบบปูพรม
โดยทั่วไปจะนิยมใช้เสาเข็มสั้น เช่น เสาเข็มหกเหลี่ยม เสาเข็มรูปตัวไอ ความยาวจะอยู่ที่ประมาณ 2-6 เมตร ตอกแบบปูพรมทุกระยะ 1 เมตร เพื่อจะได้ช่วยชะลอการทรุดตัวของพื้นที่จอดรถได้ช้าขึ้น เพราะตัวเสาเข็มจะช่วยกระจายรับน้ำหนักไปทั่วทั้งพื้นที่ ถึงแม้คุณจะใช้วิธีการตอกเสาเข็มเพื่อรองรับน้ำหนัก แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ 100% เต็ม เพราะสุดท้ายพื้นก็คงยังทรุดตัวเหมือนเดิม ดังนั้นการจะทำโรงจอดรถที่ติดกับตัวบ้านควรที่จะแยกโครงสร้างด้วยวิธีการตัดรอยแยกที่ต่อระหว่างพื้นที่โครงสร้างที่วางบนคานและพื้นโครงสร้างที่วางบนดิน หรือที่เรียกกันย่อๆคือการตัด Joint โครงสร้างไม่ให้ติดกัน วิธีการตัด Joint ที่นิยมกันมากที่สุดก็คือการโรยกรวด หรือถ้าหากมีรอยร้าวไม่มากเท่าไหร่จะลองใช้วิธีอุดรอยต่อด้วยโฟมเส้นและยาแนวด้านบนด้วยวัสดุอุดรอยต่อ อาทิ PU หรือซิลิโคน จะเป็นยางมะตอยก็ได้เช่นกัน
คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านต่อเลย โรงรถสวยๆ เรื่องควรรู้ก่อนสร้างโรงจอดรถเอง
3.ก่อสร้างพื้นที่โรงจอดรถบนพื้นดิน
ด้วยการไม่ใช่เสาเข็มหรือสร้างโครงสร้างไปรองรับ วิธีนี้จัดว่าเป็นวิธีที่ดีอีกวิธีเพราะทั้งถูกและประหยัดที่สุด เหมาะที่จะสร้างบนพื้นที่จอดรถที่เป็นดินแข็ง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้พื้นดินบริเวณนั้นเป็นดินอ่อน ก็จำเป็นต้องบดอัดดินให้แน่นมากเสียก่อน แล้วทำการเทพื้นโรงจอดรถ แล้วจึงทำการตัดแยกโครงสร้างสำหรับจอดรถและพื้นที่โครงสร้างโดยรอบ ดังนั้นเราจึงสามารถที่จะสรุปวิธีการทำพื้นที่โรงจอดรถได้ตาม 3 วิธีข้างต้น แต่เราลองมาดูกันว่าวิธีไหนถึงจะถูกและเหมาะสมกับบ้านของเรามากที่สุด
วิธีที่ 1. จัดได้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะจะไม่มีปัญหาการทรุดตัวที่แตกต่างกันระหว่างตัวบ้าน กับที่จอดรถ แต่คงต้องทำใจเรื่องค่าใช้จ่ายของการก่อสร้างค่อนข้างสูงแทน และต้องหาทางแก้ปัญหารอยต่อระหว่างที่จอดรถกับถนนหน้าบ้าน จากสาเหตุที่ถนนหน้าบ้านเกิดการทรุดตัว
วิธีที่ 2. ยังคงเกิดการทรุดตัวในระดับปานกลาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยาวของเสาเข็มด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับปานกลาง
วิธีที่ 3. เป็นวิธีที่ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่ยังมีปัญหาการทรุดตัวมากที่สุดอยู่ดี ถ้าใครเลือกวิธีนี้ก็ต้องอยู่ไปซ่อมไปเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าหวังจะทำพื้นโรงจอดรถให้สวยงามด้วยทรายล้าง คอนกรีตพิมพ์ลาย หรือกระเบื้องแพงๆ ลืมไปได้เลย เพราะคุณจะต้องเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์เพราะคุณต้องคอยซ่อมพื้นบ่อยๆนั่นเอง
ถึงอย่างไรก็ดี การเลือกวิธีหรือรูปแบบของโรงจอดรถก็ต้องดูความเหมาะสมของสภาพหน้างานจริงด้วย เพราะพื้นที่ของบ้านแต่ละหลังย่อมมีความเหมือนหรือความแตกต่างกันออกไป บางบ้านใช้วิธีนี้ได้ แต่บางบ้านอาจจะไม่เหมาะกับวิธีนี้ ถ้าไม่แน่ใจว่าจะเลือกวิธีหรือรูปแบบไหนดี ก็ควรลองปรึกษาวิศวกรที่มีความชำนาญให้ช่วยออกแบบเพื่อความเหมาะสมอีกครั้งน่าจะเป็นการช่วยคุณได้อีกทางค่ะ