บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ June 26, 2023
บานประตู บ้านก็เปรียบเสมือนป้อมปราการด่านที่สองรองจากรั้วบ้าน ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้อยู่อาศัยรู้สึกปลอดภัย และอบอุ่นใจ ฉะนั้น การเลือกประตูบ้าน นอกจากจะดูความสวยงามแล้ว ยังต้องเน้นเรื่องความแข็งแรง ทนทาน โดยเฉพาะประตูหลักของบ้านที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ส่วนห้องต่างๆ ภายในบ้านอาจไม่ต้องแข็งแรงเท่า แต่ก็ควรที่จะเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น เป็นห้องที่ต้องสัมผัสกับความชื้นบ่อยๆ ก็ควรเลือกวัสดุประตูที่ทนน้ำได้ วันนี้เราจึงได้รวบรวมวัสดุของประตูแต่ละชนิดว่ามีคุณสมบัติอย่างไร เหมาะกับการใช้งานแบบไหนมาเผื่อเป็นไอเดียให้กับผู้ที่กำลังมองหาประตูไปใช้งานกัน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอย่าง วิธีแก้และติดตั้งวงกบประตูที่บางกว่าผนัง และ การดูแลรักษาประตูหน้าต่างไม้ไม่ให้ผุพัง เป็นความรู้เสริมให้คุณได้นำไปใช้ในการทำบานประตูด้วย
1. บานประตูไม้
ถ้าจะให้พูดถึงไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะประตูไม้สามารถหาซื้อได้ง่าย แถมเข้ากับบ้านได้ทุกสไตล์ ให้ความอบอุ่น เป็นธรรมชาติ สามารถตกแต่งลวดลายและสีสันได้ตามต้องการ ส่วนใหญ่ไม้ที่นำมาทำประตูจะเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้สัก ไม้โอ๊ค ซึ่งไม้เหล่านี้จะให้ความสวยงาม ความทนทาน และราคาที่แตกต่างกัน ข้อจำกัดของประตูไม้ก็คือ เรื่องน้ำ เพราะถ้าหากไม้โดนน้ำหรือเจอความชื้นบ่อยๆ ไม้จะมีอาการบวมเกิดเชื้อราขึ้น และเมื่ออากาศแห้งลงไม้ก็จะโก่ง บิดตัว ดังนั้น การเลือกนำประตูไม้ไปใช้จึงควรเลี่ยงบริเวณที่จะโดนน้ำ เช่น ประตูห้องนอน แต่ถ้าต้องการนำไปใช้เป็นประตูหน้าบ้านก็ควรเลือกเป็นไม้เนื้อแข็งเท่านั้น แล้วควรบำรุงรักษาอยู่สม่ำเสมอ
2. บานประตู WPC (Wood-Plastic Composite)
บานประตู WPC หรือที่เรียกกันว่าไม้สังเคราะห์ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาทดแทนการใช้ไม้จากธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบ เปรียบเหมือนกับใช้ไม้จริง เพราะทำมาจากไม้บดผสมพลาสติกแล้วนำมารีดเป็นแผ่น ทำให้ได้บานประตูที่แข็งแรงทนทาน (แต่ก็ยังน้อยกว่าไฟเบอร์กลาส) มีคุณสมบัติกันปลวก ไม่ติดไฟ สามารถกันแรงกระแทกได้ดี แช่น้ำได้ถึง 100% ระยะเวลานานถึงกว่า 30 วัน สามารถนำไปใช้งานได้ทุกส่วนของบ้านทั้งภายในและภายนอก
3. บานประตูไม้ HDF
ประตูไม้ HDF (High Density Fiber) หรือประตูแผ่นใยไม้ ที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติผสมกับกาวสังเคราะห์ อัดด้วยความดันและความร้อนสูง เพื่อทำให้เส้นใยประสานเป็นเนื้อเดียวกัน จึงทำให้โครงสร้างบานประตูมีความแข็งแรงเหมือนไม้จริง เหมาะสำหรับมาใช้เป็นประตูภายใน ซึ่งบานประตูลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยมมากในหมู่บ้านรุ่นใหม่ๆ เพราะมีคุณภาพที่ดีกว่าประตูไม้อัด MDF หมดปัญหาไร้กังวลเรื่อง ปลวก มอด แมลง สามารถทนความชื้นได้ดี จึงนำไปใช้เป็นประตูห้องน้ำได้ แต่ควรให้เป็นห้องน้ำที่มีการแยกส่วนเปียกกับส่วนแห้งอย่างชัดเจน และควรระบายอากาศได้ดีด้วย ซึ่งบานชนิดนี้ไม่เหมาะจะนำไปใช้ภายนอก รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการโดนแดดและฝนที่จะกระทบโดยตรง
4. บานประตูพีวีซี (PVC)
เป็นอีกประตูชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาทดแทนวัสดุไม้หรือกึ่งไม้ เนื้อผิวจะเรียบเนียนเป็นแผ่นเดียวกันตลอดบาน และเนื่องจากเป็นประตูที่ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์จึงหมดปัญหาเรื่องความชื้นและปลวก ไม่ผุ ไม่หด หรือบิดงอ น้ำหนักเบาติดตั้งง่าย แต่ก็ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้งานภายนอกและบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง สาเหตุเนื่องมาจากความร้อนจากแสงแดดจะทำให้บานประตูกรอบเสียหาย ประกอบกับเนื้อวัสดุที่ค่อนข้างบางทำให้งัดแงะได้ง่าย ฉะนั้น จึงเหมาะสำหรับการใช้ติดตั้งภายใน อาทิเช่น ประตูห้องน้ำ ประตูห้องครัวที่อยู่ภายในบ้านเท่านั้น
5. บานประตูยูพีวีซี (UPVC)
ประตูยูพีวีซี (uPVC) หรือ ไวนิล (Vinyl) ซึ่งเป็นประตูที่อัพเกรดมาจากประตู PVC ผลิตมาจากโพลีเมอร์ ผ่านกระบวนการอัดรีดด้วยความร้อนสูงเป็นแผ่นเรียบอัดฟิล์มแล้วปั้มขึ้นตามรูปแบบ คุณสมบัติพิเศษของ uPVC คือเป็นวัสดุที่ไม่ลามไฟ และเป็นฉนวนกันไฟฟ้าได้ดี สามารถทนทานต่อทุกสภาพอากาศทั้งร้อน หนาว ฝน แม้กระทั่งไอเค็มจากทะเล ตัววัสดุไม่หดหรือขยาย ทนต่อแรงกระแแทก ป้องกันปลวก และแมลง กันเสียงรบกวนจากภายนอกได้เป็นอย่างดี ติดตั้งมุ้งลวดได้ แถมยังกันน้ำได้ถึง 100% เหมาะสำหรับการใช้งานภายใน และประตูภายนอกที่มีร่มบัง เช่น ประตูห้องน้ำ ห้องครัว แต่ไม่แนะนำให้ใช้ภายนอกเต็มที่แบบที่ไม่มีหลังคาบัง
6. บานประตูกระจก
มักจะถูกนำไปใช้ในตำแหน่งที่ต้องการให้มีความโปร่งตา ไม่ต้องการความเป็นส่วนตัวมาก ลักษณะของประตูกระจกจะเป็นเทมเปอร์ และกระจกลามิเนตที่มีความแข็งแรง ทนทาน แตกหักยาก มีให้เลือกหลากหลายแบบ เช่น ประตู Fiberglass ประตูกระจกนิรภัย เป็นต้น โดยส่วนมากจะนำไปใช้ในงานภายในสำหรับแบ่งกั้นระหว่างห้อง ตู้ ห้องน้ำ หรือบ้านที่มีพื้นที่น้อยแล้วต้องการพรางตาให้ดูกว้างขวางขึ้น สามารถใช้ได้ทั้งงานภายในและภายนอก ส่วนถ้าเป็นประตูนอกบ้าน จึงนิยมใช้กระจกบานเลื่อน เพื่อเชื่อมต่อกับโซนสวนเสียมากกว่า
นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ยังมีวัสดุประตูให้เลือกอีกไม่ว่าจะเป็น ประตูไฟเบอร์กลาส ประตูเหล็ก ซึ่งก็จะมีคุณสมบัติและประโยชน์การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การเลือกใช้วัสดุประตูควรดูความเหมาะสมเป็นหลัก เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งานมากที่สุด และที่สำคัญประตูก็เหมือนวัสดุส่วนอื่นๆ ของบ้านที่ต้องหมั่นตรวจเช็กความเรียบร้อย ซ่อมแซมอยู่เสมอ เพื่อให้บานประตูคงความใหม่ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานอีกด้วย
สิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบานประตู
จากบทความด้านบนเราสามารถเห็นได้ว่าวัสดุของประตูแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ทำให้มีวิธีการดูแลรักษาและการติดตั้งที่แตกต่างกัน เพื่อเสริมข้อมูลเราจึงเสนอวิธีการแก้ไขและติดตั้งวงกบประตูที่บางกว่าผนัง และวิธีการดูแลรักษาประตูหน้าต่างไม้ไม่ให้เสื่อมสภาพ เพื่อให้คุณนำไปใช้ได้ในการดูแลและดัดแปลงประตูของคุณ
วิธีแก้และติดตั้งวงกบประตูที่บางกว่าผนัง
การติดตั้งวงกบประตู-หน้าต่างไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากผนังที่หนากว่าขนาดวงกบ อาจทำให้ไม่แน่ใจว่าจะติดตั้งชิดด้านนอกหรือชิดใน แต่ตำแหน่งการติดตั้งประตูไม้เมื่อบางกว่าผนัง สามารถทำได้ทั้งหมด 3 ทาง คือ ติดตั้งชิดนอก ติดตั้งชิดใน และติดตั้งตรงกึ่งกลางผนัง แต่การเลือกติดตั้งแต่ละตำแหน่งมีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน โดยมีรายละเอีดยดังนี้
- การติดตั้งประตู-หน้าต่างชิดด้านนอก : ช่วยลดฝุ่นและการเกาะของนกบนผนังภายนอกบ้าน สามารถติดตั้งเหล็กดัดเพิ่มเติมและผ้าม่านบนผนังภายในได้ การตกแต่งผนังภายในสามารถใช้วิธีการฉาบปูนเรียบและทาสี หรือติดซับวงกบเพิ่มเติม เพื่อปิดรอยต่อระหว่างวงกบกับผนัง ซับวงกบสามารถออกแบบได้หลากหลายลวดลายและชั้น เพิ่มมิติให้กับผนังภายในบ้าน
- การติดตั้งประตู-หน้าต่างชิดใน : ช่วยป้องกันน้ำฝนและแดดได้มากกว่า และช่วยให้ผนังดูมีแสงเงามิติ โดยความหนาของขอบผนังด้านนอกจะป้องกันไม่ให้รอยต่อระหว่างวงกบกับผนังต้องโดนฝนตรงๆ และบริเวณขอบผนังล่างต้องมีการทำขอบให้ลาดเอียงออกไปสู่ภายนอก เพื่อไม่ให้น้ำฝนลงไปขังอยู่ที่วงกบซึ่งจะส่งผลทำให้รั่วซึมมากขึ้นกว่าเดิม
- การติดตั้งประตู-หน้าต่างกึ่งกลางผนัง : เป็นทางเลือกที่ผสมผสานข้อดีและข้อเสีย ขอบผนังด้านนอกช่วยป้องกันน้ำฝนและแดด ขอบผนังด้านในสามารถติดตั้งเหล็กดัด ผ้าม่าน และซับวงกบได้ แต่ต้องทำความสะอาดทั้งผนังด้านนอกและด้านในเพื่อดูแลรักษาความสะอาด
สรุปแล้วการติดตั้งประตู-หน้าต่างชิดด้านนอกหรือด้านในขึ้นอยู่กับรูปแบบและการใช้งาน โดยควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เช่น ประโยชน์ใช้สอย การรั่วซึมของน้ำฝน การติดตั้งเหล็กดัด การดูแลรักษาความสะอาด และความสวยงาม โดยเจ้าของบ้านควรเปรียบเทียบและชั่งน้ำหนักตัดสินใจให้ดีก่อนที่จะติดตั้ง เพราะการแก้ไขจะยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง
การดูแลรักษาประตูหน้าต่างไม้ไม่ให้ผุพัง
ประตูหน้าต่างไม้ในบ้านที่อยู่อาศัยมานานจะเสื่อมโทรมไปกับเวลา จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม้เป็นอาหารของปลวกและมอดไม้ ยังยืดหดตัวหรือผุพังได้ง่าย การซ่อมแซมและดูแลประประตูไม้สามารถทำได้ง่ายๆ แต่หากเสียหายจนเกินกว่าจะเยียวยา การเปลี่ยนหน้าต่างใหม่อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
- ประตูหลักของบ้านควรมีความแข็งแรงและทนทาน เพื่อสร้างความมั่นใจและปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัย
- ประตูห้องต่างๆภายในบ้านไม่จำเป็นต้องแข็งแรงเท่า แต่ควรเลือกวัสดุที่เหมาะกับการใช้งาน เช่น ประตูห้องน้ำควรเลือกวัสดุที่ทนน้ำได้
- ประตูไฟเบอร์กลาส และประตูเหล็กมีคุณสมบัติและประโยชน์การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ควรเลือกวัสดุประตูที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งานมากที่สุด
- ประตูก็เหมือนวัสดุอื่นๆ ของบ้านที่ต้องหมั่นตรวจเช็คความเรียบร้อย ซ่อมแซมอยู่เสมอ เพื่อให้บานประตูคงความใหม่และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
เพื่อให้บ้านของคุณสะอาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การดูแลรักษาประตูและหน้าต่างของบ้านนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง จึงควรเลือกวิธีการติดตั้งที่เหมาะสมกับบ้านของคุณ และปรับปรุงประตูและหน้าต่างอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้งานสะดวกและปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งวงกบประตูที่บางกว่าผนัง หรือการดูแลรักษาประตูหน้าต่างไม้ไม่ให้ผุพัง ซึ่งการตรวจสอบและบำรุงรักษาเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้บ้านของคุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยังเป็นคุณค่าในอนาคตอีกด้วย
โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon