บันไดบ้าน บริหารพื้นที่ใต้บันไดอย่างไร ให้เกิดประโยชน์
บันไดบ้าน ในส่วนของพื้นที่ใต้บันได อาจจะเป็นส่วนที่ใคร ๆ หลายคนมองข้าม แต่ปัจจุบันนี้การซื้อบ้านสักหลังหนึ่งโดยเฉพาะในเมืองเริ่มได้ขนาดบ้านที่เล็กลงเรื่อยๆส่วนหนึ่งมาจากราคาที่ดินและค่าก่อสร้างที่ทวีมูลค่าสูงขึ้น การจะใช้พื้นที่ต่างๆภายในบ้านจึงจำเป็นต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เว้นแม้แต่บริเวณบันไดทั้งใต้บันไดและเหนือบันไดชั้นบนสุดที่มักจะไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไร ซึ่งถ้าลองวัดขนาดจากแปลนจะมีพื้นที่ประมาณ 2-3 ตารางเมตร ฉะนั้นการออกแบบที่ดีไว้ล่วงหน้าก็จะช่วยให้บริเวณบันไดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยบันไดส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ บันไดทึบ และ บันไดโปร่ง ซึ่งแต่ละประเภทก็มีความสวยงามและการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนี้ค่ะ
คุณอาจสนใจบทความที่เกี่ยวข้อง คลิกได้เลย แบบบันได สวย ๆ ปรับลุคให้บ้านใหม่ด้วย 3 บันไดสุดแนวอินดี้
1.บันไดทึบ
บันไดทึบ คือ บันไดที่มีทั้งลูกตั้งและลูกนอนบันได ไม่สามารถมองทะลุขึ้นไปหรือมองลงมาได้ ส่วนช่วงท้องของบันไดทึบมีได้ทั้งแบบท้องเรียบ และท้องหยัก หรือที่เรียกกันว่าแบบพับผ้า หรือแบบมีคานแม่บันได บันไดลักษณะนี้เหมาะจะนำพื้นที่ใต้บันไดมาใช้ประโยชน์มากที่สุด แต่มีข้อควรระวังคือช่วงใต้ท้องบันได อย่างเช่นบันไดแบบพับผ้าจะมีหยักมุมแหลม อาจไม่ควรนำมาใช้เป็นพื้นที่ที่จะให้คนเข้าออก หรือหากต้องการใช้ก็ควรหาวิธีป้องกันเสียก่อน
2.บันไดโปร่ง
บันไดโปร่ง คือ บันไดที่มีแต่ลูกนอนบันไดเดียว สามารถที่จะมองทะลุลงไปได้จนเห็นพื้นข้างล่าง ส่วนใต้ท้องบันไดโปร่งแบ่งเป็นบันไดด้านข้างและแบบบันไดข้างใต้ที่รองรับลูกนอนบันได ซึ่งเหมาะจะเป็นบันไดที่โชว์ความสวยงาม ไม่เหมาะแก่การกั้นห้องหรือใช้งานข้างใต้ หากต้องการใช้พื้นที่ข้างใต้ก็สามารถทำเป็นชั้นวางของเล็กๆน้อยๆแค่นั้น
ทั้งนี้พื้นที่ใต้บันได มักนิยมให้ออกแบบการใช้งานอยู่ 3 รูปแบบ คือ ใช้เก็บของ, ใช้เป็นส่วนงานต่างๆ และ ใช้สำหรับเป็นส่วนเซอร์วิสของบ้าน
การนำพื้นที่ใต้บันไดมาใช้เป็นห้องเก็บของ
เป็นรูปแบบที่นิยมกันมาก เนื่องจากทำได้ไม่ยากรวมทั้งบริเวณใต้บันไดมีพื้นที่เพียงพอสามารถทำได้ ส่วนรูปแบบของการใช้งานเป็นได้ทั้งที่เก็บของ ซึ่งจะทำให้มีลักษณะทำเป็นห้องผนังปิดทึบและติดประตูเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้าน และช่วยบดบังสายตาเวลาที่แขกมาบ้าน, การทำเป็นชั้นวางของ หรือ ออกแบบให้เป็นตู้ Built-in พอดีกับพื้นที่ใต้บันไดโดยจะทำเป็นบานเปิดหรือปิดก็ได้ หากมีพื้นที่กว้างพอสามารถออกแบบเป็นตู้รางเลื่อนซึ่งสามารถดึงชั้นวางของออกมาได้ก็จะช่วยเพิ่มพื้นที่เก็บของให้มากขึ้น เช่น เก็บรองเท้า, ชั้นวางหนังสือ, ตู้เก็บเสื้อผ้า หรือเก็บข้าวของจิปาถะ เป็นต้น
คุณอาจสนใจบทความที่เกี่ยวข้อง คลิกได้เลย รอยร้าว ของบันไดปูน กับ เทคนิคซ่อมง่าย ๆ
การนำพื้นที่ใต้บันไดมาใช้เป็นส่วนงานต่างๆ
การใช้งานในรูปแบบนี้จะเหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่น้อยมาก เช่น คอนโดแบบ Duplex ซึ่งบางครั้งเจ้าของบ้านก็ใช้พื้นที่ใต้บันไดเป็นส่วนที่วางโต๊ะและทีวี หรือวางโต๊ะคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นโซนสำหรับทำงานเพื่อหลบมุมด้วยก็ได้ กรณีที่มีงบประมาณมากเสียหน่อยก็ว่าจ้างสถาปนิกมาออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ Built-in ที่เป็นมุมเข้าไปข้างใต้สำหรับใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนหรือนอนเล่นใต้บันไดก็เก๋ไก๋ไปอีกแบบ
การนำพื้นที่ใต้บันไดเป็นส่วนเซอร์วิสของบ้าน
มักพบในบ้านที่เป็นลักษณะทาวน์เฮ้าส์หรือตึกแถวเสียส่วนใหญ่ เพราะโครงสร้างบ้านจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าลึกลงไปในแนวยาว แต่ถ้าจะกล่าวไปที่นิยมกันจริงๆคือทำเป็นห้องน้ำ โดยจัดวางโถส้วมให้เข้าไปในช่วงบริเวณที่ท้องบันไดบริเวณตำแหน่งที่ลาดเอียงลงมา เพราะการใช้งานโถส้วมจะเป็นการนั่งทำธุระจึงไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่สูงมากนัก นอกจากจะนำมาทำเป็นห้องน้ำแล้วยังสามารถนำไปทำเป็นโซนซักล้าง ด้วยการตั้งเครื่องซักผ้า และเครื่องอบผ้า หรือบางบ้านอาจทำเป็น Pantry เล็กๆก็ได้ แต่อย่าลืมคำนึงถึงเรื่องการวางระบบท่อน้ำประปาและท่อน้ำทิ้งประกอบด้วย
การใช้ประโยชน์ของพื้นที่บันไดนอกจากจะใช้พื้นที่ข้างใต้แล้วยังรวมถึงพื้นที่เหนือบันไดชั้นบนสุดด้วย ซึ่งมักจะเป็นลักษณะโถงสูงจากชานพักบันไดช่วงสุดท้ายจนถึงหลังคา ทราบหรือไม่ว่าเราสามารถต่อเติมให้เป็นชั้นลอยเล็กๆได้ ด้วยการทำเป็นพื้นโครงสร้างเหล็ก แล้วใช้วัสดุปูพื้นที่มีน้ำหนักไม่มาก เช่น ไม้, ไฟเบอร์ซีเมนต์ เป็นต้น โดยทำเป็นหิ้งพระ ที่เก็บของ หรือจะทำเป็นส่วนทำงาน ห้องนั่งเล่นก็ได้ (ทั้งนี้ควรปรึกษาวิศวกรในเรื่องโครงสร้างเพื่อดูความแข็งแรงและโครงสร้างสามารถรับน้ำหนักได้เป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจ)
อย่างไรก็ดีตัวอย่างการนำพื้นที่ใต้บันไดและเหนือบันไดมาออกแบบเพื่อใช้ประโยชน์เป็นเพียงไอเดียที่เรานำมาเสนอเท่านั้น ซึ่งรูปแบบการใช้งาน หรือเฟอร์นิเจอร์สามารถที่จะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและความคิดสร้างสรรค์ของบ้านแต่ละหลัง ทั้งนี้พื้นที่เปล่าประโยชน์ส่วนอื่นๆในบ้านยังมีอีกหลายจุด เช่น ระเบียง, ทางเข้าเดินเข้าบ้าน, ซอกมุมต่างๆ ก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยเช่นกัน เพื่อจะช่วยทำให้พื้นที่ในบ้านทุกตารางเมตรมาเป็นประโยชน์ต่อผู้อยู่อาศัยและคนในครอบครัวทุกคนค่ะ