บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ December 20, 2023
บล็อกคอนกรีต หรือบางคนอาจจะเรียกว่าบล็อกปูพื้นเป็นอีกหนึ่งวัสดุปูพื้นที่เจ้าของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่สร้างใหม่ หรือบ้านที่ต้องการจะปรับปรุง มักนิยมเลือกไปใช้สำหรับปูพื้นหน้าบ้าน ด้วยรูปทรงที่ดูแข็งแกร่ง ทนทาน ติดตั้งง่าย สะดวก และรวดเร็ว ยิ่งในปัจจุบันบล็อกปูพื้นถนนตามท้องตลาดได้มีการปรับปรุงรูปแบบให้ดูสวยงามทันสมัยมากขึ้น มีการเล่นลวดลาย เช่น จำพวกลายแพทเทิร์นต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้พื้นดูมีลูกเล่น น่าใช้งาน แต่เมื่อมีการใช้งานไปได้สักพักก็จะเริ่มเจอปัญหาพื้นเกิดการทรุดตัวลง ส่งผลให้บล็อกปูพื้นยุบตัวลงมาจนเรียงตัวไม่สม่ำเสมอ ซึ่งดูแล้วไม่สวยงาม ทั้งยังเสี่ยงต่อการสะดุดหกล้ม ก่อให้เกิดอันตรายได้อีกด้วย ฉะนั้น เจ้าของบ้านจึงจำเป็นต้องลองพิจารณาหาสาเหตุและวิธีแก้ไข เพื่อที่จะทำให้บล็อกปูพื้นมีความสวยงามอยู่อย่างสม่ำเสมอ วันนี้เราเลยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุและวิธีแก้ไขบล็อกปูพื้นยุบ รวมไปถึงวิธีแก้ปัญหาพื้นรอบบ้านทรุด และการเทพื้นคอนกรีตอย่างไรให้ทนทาน ฝากกัน
1. สาเหตุที่พื้นบล็อกปูพื้นยุบตัว
โดยทั่วไปแล้วมักจะเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ช่วงการติดตั้ง และควรเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ ยิ่งในช่วงขั้นตอนของการบดอัดดินใต้บล็อกที่บดอัดแน่นไม่เพียงพอก็จะทำให้พื้นยุบตัวได้ง่าย หรือไม่ได้ทำขอบคันกั้นรอบพื้นที่ปูบล็อกเอาไว้ก่อน เพราะน้ำหนักและแรงที่เกิดในขณะใช้งานจะดันเอาบล็อกและทรายไหลเลื่อนออกไปจากตำแหน่งเดิม ดังนั้น หากเจ้าของบ้านมีความประสงค์ต้องการชะลอการยุบตัวของบล็อกปูพื้น ก็ควรจะดำเนินการติดตั้งให้ถูกต้องและครบถ้วนตามขั้นตอนที่มีในคู่มือการติดตั้ง หรือใช้ช่างที่มีความชำนาญรวมทั้งฝีมือให้เข้ามาดำเนินการ โดยเน้นการบดอัดดินให้แน่นมากที่สุด รวมถึงอย่าลืมเรื่องการทำขอบคันหิน เพื่อจะได้ช่วยป้องกันบล็อกหรือทรายไหลออกด้านข้าง แล้วลากเอาตัวบล็อกปูพื้นหลุดร่วงไปด้วย
2. วิธีแก้ไขพื้นบล็อกปูพื้นยุบตัว
หากเป็นกรณีที่บล็อกปูพื้นได้เกิดปัญหายุบตัวลงไปแล้ว ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะสามารถแก้ไขได้ด้วยการรื้อบล็อกในส่วนที่ยุบตัวออก แล้วทำการปรับระดับหน้าดินพร้อมบดอัดให้แน่นกว่าเดิม ก่อนจะนำบล็อกชุดเก่ามาปูใหม่ตามขั้นตอนที่ให้ถูกต้องครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วพื้นผิวดินที่รองรับบล็อกปูพื้นนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นชั้นดินอ่อน จึงทำให้เมื่อปูบล็อกลงพื้นดินเมื่อใช้งานไปนานๆ ย่อมเกิดการยุบตัวลงง่ายกว่าจุดอื่น จนเกิดเป็นร่องหลุมบนพื้นได้ กรณีเช่นนี้เจ้าของบ้านอาจต้องใช้อีกทางเลือกหนึ่งที่ยังคงให้ภาพลักษณ์ที่คล้ายกัน นั่นคือการติดตั้งกระเบื้องคอนกรีต วิธีนี้ต้องเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วปรับระดับพื้นด้วยปูนทรายก่อนจึงค่อยติดตั้งกระเบื้องคอนกรีตทับลงไป (ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นแนะนำว่าให้ลงเสาเข็มแบบปูพรมก่อนเทพื้นด้วย เพื่อช่วยชะลอการทรุดตัว)
ถึงกระนั้นแม้เจ้าของบ้านจะมีการติดตั้งบล็อกปูพื้นอย่างถูกต้องตามวิธีแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พื้นเกิดการยุบตัวลงอย่างรวดเร็ว นั่นก็คือ การทรุดตัวตามสภาพของพื้นดิน ถ้าเป็นปัญหานี้จะเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านธรณีวิทยาโดยตรง เช่น ถมพื้นดินไม่นานพอ หรือบริเวณนั้นเคยเป็นบึงบ่อแล้วเพิ่งมาถมดินทับลงไป จึงส่งผลให้พื้นเหล่านี้จะเกิดการยุบตัวได้ง่ายกว่าพื้นดินทั่วไป โดยเฉพาะพื้นที่แถบฝั่งกรุงเทพฯ และปริมณฑลส่วนใหญ่ดินชั้นบนจะเป็นดินเหนียวอ่อนจึงมีผลให้พื้นดินบริเวณนั้นจะยุบตัวลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นพื้นที่ค่อนข้างลุ่มต่ำทำให้เวลาที่น้ำท่วม น้ำก็จะลงไปอยู่ใต้ชั้นดิน จนเกิดโพรงใต้ดิน อันเป็นผลพวงอีกอย่างที่ทำให้พื้นยุบตัวลงมาได้ง่ายเช่นกัน
แต่ในความเป็นจริงถ้าให้เลือกระหว่างการปูกระเบื้องคอนกรีต กับ บล็อกปูพื้น แนะนำว่าควรเลือกเป็นบล็อกปูพื้นน่าจะเหมาะสม สำหรับพื้นที่ที่มีลักษณะยุบตัวง่าย เพราะสามารถรื้อออก ปรับระดับ แล้วนำบล็อกชุดเดิมมาปูใหม่ ซึ่งในทางกลับกัน หากไปใช้วัสดุปูพื้นอื่นๆ เช่น กระเบื้อง หินล้าง ทรายล้าง ที่ต้องมีการเทพื้นคอนกรีตก่อนติดตั้งนั้น เมื่อพื้นยุบตัวลงอย่างไม่สม่ำเสมอจะก่อให้เกิดการแตกร้าว ส่วนวิธีการแก้ไขก็คือต้องทุบ รื้อพื้นเดิมทิ้งออกเสียก่อน เทพื้นคอนกรีตอีกครั้ง จึงค่อยติดตั้งวัสดุปิดผิวใหม่
ดังนั้น เราจึงสามารถสรุปได้ว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะชะลอการยุบของบล็อกคอนกรีตหรือบล็อกปูพื้นก็คือ การเตรียมพื้นผิวให้แน่น และต้องติดตั้งให้ถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอน รวมไปถึงเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ โดยดูหลักพิจารณาความจริงและเหตุผลประกอบไปด้วย เพื่อให้เหมาะสมกับบ้านของเราที่สุด
สิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการปูพื้นนอกบ้าน
จากข้อมูลที่เรารู้เกี่ยวกับสาเหตุและวิธีแก้ไขบล็อกปูพื้นยุบกันไปแล้ว สามารถสรุปได้ว่าการเตรียมพื้นเป็นสิ่งสำคัญก่อนการทำการปูพื้น ดังนั้น ถ้าหากพื้นรอบบ้านของคุณมีปัญหาทรุดอยู่แล้ว ควรแก้ไขปัญหานี้ก่อน แล้วค่อยทำการปรับแต่งดินหรือเทคอนกรีตเพื่อลดโอกาสในการที่พื้นอาจทรุดหรือเกิดปัญหาบล็อกปูพื้นยุบตัวในระยะยาว
ดังนั้น เราจึงมีวิธีแก้ปัญหาพื้นทรุดสำหรับผู้ที่กำลังพยายามแก้ไขปัญหารอบบ้านทรุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเตรียมทำพื้นใหม่ อย่างไรก็ตาม การปรับแต่งพื้นคอนกรีตอย่างถูกวิธี จะช่วยให้ทนทานและลดโอกาสในการเกิดปัญหาพื้นทรุดหรือคอนกรีตยุบตัวในระยะยาวได้ หากพร้อมแล้วลองไปดูวิธีทำกันเลย
วิธีแก้ปัญหาพื้นรอบบ้านทรุด
หากพื้นรอบบ้านของคุณทรุดต่ำกว่าระดับคานบ้าน อาจทำให้เกิดโพรงใต้บ้านเป็นช่องโหว่งที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้บ้านดูไม่สวยงามแต่ยังเป็นช่องทางที่สัตว์ต่างๆ สามารถเข้ามาซ่อนตัวได้ และอาจก่อกวนหรือเป็นอันตรายต่อสมาชิกภายในบ้านได้เช่นกัน ดังนั้น หากคุณพบว่าโพรงใต้บ้านของคุณมีขนาดใหญ่ขึ้นจากปกติ คุณควรหาวิธีปิดโพรงใต้ให้เรียบร้อยโดยเร็วเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ก่อนที่คุณจะทำการปูพื้นใหม่อีกครั้ง
วิธีที่ดีที่สุดเพื่อปิดโพรงใต้บ้านคือการปรับระดับพื้นดินให้เรียบและไม่มีหลุมก่อน หากพื้นเดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และยังอยู่ในสภาพดี สามารถวางตะแกรงเหล็กแล้วเทคอนกรีตทับเพื่อเพิ่มระดับได้ แต่ถ้าพื้นเสียหายแตกร้าว คุณจะต้องทุบแล้วรื้อออกหลังจากนั้นถมทรายให้ได้ระดับก่อนเทคอนกรีต
นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้ปิดโพรงใต้บ้านได้ เช่น การใช้วัสดุปิดเปิดช่องโหว่ง หรือการใช้วัสดุสำหรับปิดผิวดินใต้บ้าน เช่น กระเบื้อง หรือแผ่นโพลีเอทิลีน แต่เมื่อเทียบกับการปรับระดับพื้นดินเพื่อปิดโพรงใต้บ้าน วิธีการนี้จะมีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
ดังนั้น การปรับระดับพื้นดินเพื่อปิดโพรงใต้บ้านเป็นวิธีที่รวดเร็วและมีความมั่นคงสูงที่สุด เพียงแต่คุณต้องแน่ใจว่าพื้นดินที่คุณจะปรับระดับได้เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างของบ้านในอนาคต และหลังจากคุณปรับระดับพื้นดินเสร็จสิ้นแล้ว คุณสามารถปูพื้นใหม่ได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ
เทคนิคเทพื้นคอนกรีตอย่างไรให้ทนทาน
ในส่วนนี้เราจะนำเสนอเทคนิคสำหรับการปูพื้นคอนกรีตที่สามารถทนทานต่อการใช้งานได้นาน โดยใช้วิธีการผสมผสานวัสดุที่เหมาะสมและการติดตั้งที่ถูกต้อง อีกทั้งยังได้ให้คำแนะนำด้านการดูแลรักษาพื้นคอนกรีตอีกด้วย
- ปรับระดับหน้าดินเดิมให้เรียบ ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ หรือขรุขระ โดยลดระดับหน้าดินลงเพื่อเตรียมพื้นก่อนการปูพื้น
- กั้นไม้แบบด้วยการวางแนวของเส้นถนน ให้ขอบเขตความกว้างยาวได้ตามที่แบบกำหนดไว้ โดยไม่ควรให้เกิน 6 เมตร
- เททรายลงไปจนได้ระดับหนา 5 cm บดอัดหรือทุบให้แน่น
- ต้องเสริมตะแกรงเหล็ก Wire Mesh ขนาด 6 @ 15 cm เข้าไปในเนื้อคอนกรีตด้วย โดยการวางตะแกรงเหล็กถัดจากการเทคอนกรีตลงไปให้ต่ำกว่าระดับที่ต้องการ ประมาณ 5 cm เพื่อกันรอยร้าวที่จะเกิดขึ้นกับผิวคอนกรีต หรือ อาจเลือกทำวิธีการเสริมลูกปูนก่อนที่จะวางตะแกรงเหล็ก Wire Mesh ทับ แล้วเทคอนกรีตลงไปให้ทั่วพื้นที่จนได้ในระดับที่ต้องการ
- ปรับแต่งผิวหน้าของคอนกรีต โดยใช้ท่อปรับผิวหน้าคอนกรีตเพื่อการตกแต่งผิวให้เรียบเนียน มีทางเลือกในการกรีดผิวหน้าเป็นลายริ้วเพื่อกันลื่น ปรับระดับพื้นผิวด้วยการปูกระเบื้อง หรือทำเป็นพื้นคอนกรีตพิมพ์ลาย
- บ่มพื้นถนนคอนกรีตด้วยการฉีดน้ำให้ชุ่มทุกวันติดต่อกันจนเป็นระยะเวลา 7 วัน เพื่อให้ตัวพื้นคอนกรีตมีความคงทนแข็งแรงแกร่งเต็มที่
- ผู้รับเหมาจะต้องเริ่มทำการกรีดร่องตามตำแหน่งรอยต่อคอนกรีต กว้าง 1 cm ลึก 1.5 cm แล้วหยอดยางมะตอยลงระหว่างช่อง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมลงไปในร่องรอยต่อหรือรอยร้าว
จะเห็นได้ว่าการปรับระดับพื้นดินทำให้คุณสามารถปูพื้นใหม่ได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ นอกจากนี้ แนะนำว่า ควรใช้เทคนิคเทพื้นคอนกรีตก่อนการปูบล็อกคอนกรีต โดยใช้วิธีการผสมผสานวัสดุที่เหมาะสมและการติดตั้งที่ถูกต้อง จะทำให้พื้นทนทานต่อการใช้งานได้นานมากยิ่งขึ้น
โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon