บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ June 27, 2023

ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ด้วยการเตรียมพื้นที่ภายนอกบ้านอย่างไรให้เหมาะกับผู้สูงอายุ

ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่น การทรงตัว การก้าวเดิน ยืน ลุก นั่ง กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายเริ่มเสื่อมถอย รวมทั้งสายตาที่เริ่มจะพร่ามัวไปบ้าง เราจึงมักได้ยินคนแก่ลุกทีก็โอย!! นั่งทีก็โอย!! อยู่เป็นประจำ ฉะนั้น จุดสำคัญของแบบแปลนบ้านที่ผ่านการวางแผนปรับเปลี่ยนและเตรียมพื้นที่ภายนอกก็จะช่วยตอบโจทย์และรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพื่อให้คนสูงอายุสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวก ผ่อนคลาย สบายใจ มีความสุข และอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย ซึ่งในบทความที่แล้วเราเคยได้กล่าวถึงเรื่องการเตรียมบ้านสำหรับผู้สูงอายุภายในบ้านไป มาบทความนี้เราจะกล่าวถึงการเตรียมพื้นที่ภายนอกบ้าน เช่น รั้วรอบบ้าน, สวนภายนอก, ทางเดินรอบบ้าน และทางเข้าบ้าน ให้เหมาะกับผู้สูงอายุกัน


1. รั้วรอบบ้าน

ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

เป็นส่วนที่กั้นแสดงอาณาเขตของบ้านเรากับภายนอก และช่วยป้องกันอันตรายจากภายนอกก่อนที่จะเข้ามาสู่ภายในบ้าน จึงต้องมีความมั่นคงแข็งแรง หากเป็นบ้านที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วย ควรออกแบบรั้วให้สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ เช่น ความสูงอยู่ในระดับสายตาที่สามารถมองออกไปข้างนอกในขณะที่ยืน (ความสูงที่พอดีจะอยู่ที่ 150 ซม.) แล้วเลือกรูปแบบให้เป็นลักษณะแบบกึ่งทึบกึ่งโปร่งเพราะผู้สูงอายุจะรู้สึกปลอดภัยและยังคงความเป็นส่วนตัว นอกจากนั้นอาจติดกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมบริเวณรั้ว เพื่อจะได้เพิ่มความปลอดภัยบริเวณโดยรอบมากยิ่งขึ้น


2. สวนภายนอก

ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ผู้สูงอายุอาจจะมาใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเดินออกกำลังกาย ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ซึ่งพื้นที่สวนนอกบ้านจะประกอบไปด้วย พื้นที่สวน และทางเดินในสวน ซึ่งต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ควรปรับพื้นดินให้เรียบ ตบอัดดินให้แน่น และจัดระเบียบพื้นที่ให้เรียบร้อย อย่าให้มีหลุม หรือก้อนหินขรุขระเพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น ทางเดินในสวนควรให้อยู่ในลักษณะทางเดินที่เรียบยาว หลีกเลี่ยงการทำทางเดินด้วยวัสดุแผ่นพื้นคั่นสลับกับหญ้า และห้ามมีสิ่งกีดขวางทางเดินหรือระบบสายไฟ แม้กระทั่งสายยางฉีดน้ำรดต้นไม้ก็ควรทำที่เก็บไว้เป็นระเบียบ เพื่อป้องกันการสะดุด หกล้มได้

รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์และของตกแต่งต่างๆ ก็ไม่ควรให้มีเหลี่ยมคมมาตั้งประดับตกแต่ง นอกจากนั้นพรรณไม้ที่นำมาปลูกควรเน้นเป็นไม้ดอกที่ส่งกลิ่นหอม (แต่ต้องมั่นใจว่าผู้สูงอายุไม่มีอาการแพ้ละอองเกสรดอกไม้) หลีกเลี่ยงพวกไม้ผล ไม้มีหนาม หรือไม้มียาง แนวพุ่มไม้ ต้นไม้ที่จะไม่บดบังการมองเห็นในระยะไกล หากต้องการประดับเป็นไม้กระถางก็เลือกไม้กระถางที่มีน้ำหนักเบาเคลื่อนย้ายได้สะดวก แล้วที่สำคัญอย่าลืมติดตั้งราวจับไว้ส่วนต่างๆ ที่เป็นพื้นที่เตรียมไว้สำหรับนั่งพักด้วย


3. ทางเดินรอบบ้าน

ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

ไม่ว่าจะเป็นลานทางเดิน ชานบ้าน ระเบียง หรือเฉลียงบ้าน พื้นที่เหล่านี้ควรทำให้เป็นพื้นระดับเดียวกัน มีความเรียบสม่ำเสมอกันทั้งผืน และควรเลือกใช้วัสดุพื้นที่ไม่ลื่นและช่วยลดแรงกระแทกได้ เช่น เลือกใช้ระบบพื้นเฉลียงนุ่มสำหรับผู้สูงอายุ Soft Decking System และบล็อกยางปูพื้นกันกระแทก (Rubber Tile) รวมทั้งสิ่งสำคัญคือติดตั้งราวจับทรงตัวตลอดทางเดินและติดตั้งราวระเบียงหรือราวสำหรับกันตกในพื้นที่ต่างระดับ


4. ทางเข้าบ้าน

ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

บริเวณทางเข้าบ้าน ถ้าหากท่านสามารถวางแผนก่อนสร้างบ้านหรือถ้าสร้างไปแล้วแต่สามารถแก้ไขได้ แนะนำว่าควรใช้ทางลาดแทนการใช้บันได เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถที่จะเข้า-ออกได้สะดวก ซึ่งทางลาดหรือบันไดเข้าบ้านนั้นจะต้องตรวจสอบให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานเสมอ สำหรับทางลาด วัสดุที่ใช้ปูพื้นต้องไม่ลื่น มีพื้นผิวต่อเนื่องระหว่างพื้นปกติกับบริเวณพื้นทางลาดจะต้องเรียบไม่สะดุด ความกว้างสุทธิของทางลาดกว้าง 90-150 ซม. มีความยาวของแต่ละช่วงไม่เกิน 600 ซม.  (กรณีที่เกินควรจะทำจุดพักหรือชานพักไว้) ความลาดชันไม่ควรเกิน 1:12 มีพื้นที่หน้าทางลาดเป็นที่ว่างยาวไม่น้อยกว่า 150 ซม. และต้องมีราวจับทั้งสองด้านตลอดแนวของทางลาด แต่หากจำเป็นต้องมีบันได ก็ควรออกแบบบันไดให้เหมาะสม โดยกำหนดความกว้างของบันไดแต่ละขั้นอย่างน้อยขั้นละ 30 ซม. ความสูงแต่ละขั้นไม่เกิน 15 ซม. และราวจับที่มั่นคงแข็งแรงยึดเอาไว้


นอกจากพื้นที่ที่เราได้กล่าวไว้ในข้างต้นแล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมก็คือ แสงสว่าง จำเป็นต้องติดตั้งแสงสว่างไว้บริเวณโคมไฟตรงประตู ขั้นบันได ทางเข้าบ้าน และทางเดินในสวน เพื่อจะได้ส่องสว่างในยามกลางคืน การเลือกสีของแสงไฟก็ต้องให้เป็นแสงที่พอเหมาะกับสายตา ไม่แยงตา แล้วสว่างเพียงพอต่อการมองเห็นได้อย่างชัดเจน ถ้าจะให้ดีควรทำระบบไฟส่องสว่างฉุกเฉินและไฟที่เปิดอัตโนมัติเผื่อไว้ด้วย กรณีที่เกิดไฟฟ้าดับอย่างน้อยก็ยังมีไฟฉุกเฉินที่จะช่วยไม่ทำให้บริเวณรอบบ้านมืดจนเกินไป

ส่วนที่สำคัญอีกอย่างก็คือเรื่องของสายไฟควรเป็นแบบฝังดินและเก็บงานให้เรียบร้อย พยายามหลีกเลี่ยงการเดินสายไฟตัดผ่านทางเดินสัญจรบริเวณนอกบ้าน เพราะมีความเป็นไปได้ที่ผู้สูงอายุจะเดินสะดุดแล้วก่อให้เกิดอันตราย ถ้าคุณสามารถวางแผนและระมัดระวังได้ตามนี้ รับรองได้ว่าผู้สูงอายุผู้ซึ่งเป็นบุคคลอันเป็นที่รักของคนในครอบครัวจะปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ อย่างแน่นอน


หลักการออกแบบบ้าน และเคล็ดลับการสร้างบ้านให้อยู่สบาย

การจะสร้างบ้านเองสักหลัง การวางแผนเป็นขั้นตอนสำคัญในการออกแบบบ้าน เริ่มต้นด้วยการกำหนดพื้นที่ที่พร้อมใช้งาน โดยพิจารณาปริมาณห้องที่ต้องการและความต้องการของครอบครัว นอกจากนี้ควรพิจารณาด้านที่ตั้งและสภาพแวดล้อม เพื่อให้ได้บ้านที่เข้ากับบริเวณในการออกแบบ รวมถึงการออกแบบใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การออกแบบห้องทำงาน ห้องนอน ห้องครัว และพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ โดยที่ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้งานได้สะดวกและสบาย

การออกแบบบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างบ้าน พร้อมการสร้างและออกแบบส่วนต่างๆ ให้ใช้งานสะดวก ตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้ นี่คือ หลักการออกแบบบ้านที่สำคัญ และเคล็ดลับในการสร้างบ้านให้อยู่สบาย


หลักการออกแบบบ้าน สิ่งที่คุณควรรู้ก่อนสร้าง

การออกแบบบ้านไม่เพียงแค่คำนึงถึงความสวยงาม แต่ต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายและความปลอดภัยของผู้อาศัยในบ้านด้วย นอกจากนี้ในการออกแบบบ้านยังต้องคิดถึงอนาคต และความสะดวกสบายของสมาชิกในครอบครัวที่จะอาศัยอยู่ด้วย เช่น การสร้างห้องหรือใช้โครงสร้างบ้านที่ดูแล้วปลอดภัย เพิ่มห้องนอนชั้นล่างเพื่อความสะดวกของผู้สูงอายุในครอบครัว และเผื่อโครงสร้างกรณีที่อาจจะต้องมีการต่อเติมเพิ่มพื้นที่ เราจึงจะมาแนะนำ หลักการออกแบบบ้านที่สำคัญ ที่คุณควรรู้ก่อนสร้างบ้าน

1. กำหนดสไตล์บ้าน – การเลือกสไตล์บ้านต้องเป็นไปตามใจชอบและคิดไว้เพื่อให้ได้บ้านตามที่ต้องการ สามารถดูแบบบ้านตามเว็บไซต์ เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบได้

2. กำหนดขนาด – การกำหนดขอบเขตการใช้งานของแต่ละห้องจะช่วยให้สามารถหาพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งหมดได้ และสร้างบ้านกี่ชั้นถึงจะเหมาะสม แต่ละพื้นที่ภายในบ้านควรมีขนาดเท่าไร

3. กำหนดตำแหน่ง – การออกแบบบ้านที่ดีควรคำนึงถึงทิศทางของแสงแดดและลม เพื่อวางตำแหน่งห้องต่างๆ ภายในบ้านได้อย่างเหมาะสม

4. กำหนดการวางอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน – การออกแบบแต่ละห้องควรคำนึงถึงการวางเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน และปลั๊กไฟด้วย เผื่อต้องมีการเจาะผนัง เดินสายไฟ หรือวางระบบท่อต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างของบ้าน

5. ออกแบบเพื่อป้องกันเสียง – การป้องกันเสียงจากภายในและภายนอกบ้าน สามารถออกแบบได้โดยการใช้หน้าต่างกันเสียง จัดแบ่งพื้นที่การใช้งานเป็นสัดส่วน ติดตั้งฉนวนกันเสียง หรือห้องนอนไม่ควรอยู่ติดฝั่งถนน เป็นต้น

6. คำนึงถึงอนาคต – ในการออกแบบบ้านควรคำนึงถึงความสะดวกสบายของทุกคนในครอบครัว และควรเลือกใช้โครงสร้างที่ปลอดภัย มีห้องนอนชั้นล่างเพื่อความสะดวก ดูแลทำความสะอาดง่าย และเผื่อโครงสร้างสำหรับการต่อเติมภายหลัง


เคล็ดลับการสร้างบ้านให้อยู่สบาย และดูแลรักษาง่าย

การออกแบบบ้านที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบ้านเป็นสถานที่ที่เราอยากอยู่และพักผ่อนให้สบาย แต่ถ้าอยู่บ้านแล้วไม่สะดวกสบาย หรือในทุกวันหยุดต้องใช้เวลาไปกับการทำความสะอาดบ้านที่ไม่จบไม่สิ้น ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าสนุก ดังนั้น การมีแผนการออกแบบบ้านที่ดี จะช่วยให้เราดูแลบ้านได้อย่างง่ายดาย วันนี้จึงมี เคล็ดลับการออกแบบบ้าน ให้ดูแลรักษาง่ายๆ มาบอกกัน

  • จัดสวนแบบดูแลง่าย – การจัดสวนช่วยสร้างบรรยากาศที่สบาย ผ่อนคลาย และเพิ่มความสวยงามให้กับบ้าน แต่การจัดสวนก็ต้องการเวลาในการดูแลรักษา หากคุณไม่มีเวลามากพอ ลองปลูกพันธุ์ไม้ที่ไม่ต้องดูแลมากหรือต้องการน้ำน้อย
  • แยกโซนในห้องน้ำ – การทำความสะอาดห้องน้ำเป็นภารกิจใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการขัดเคาน์เตอร์, อ่างล้างหน้า, ขัดพื้น ก็เสียเวลานานนับชั่วโมง วิธีแก้ไขคือ การแบ่งพื้นที่เปียกกับพื้นแห้งอย่างชัดเจน ช่วยป้องกันน้ำกระเซ็น แถมยังเบาแรงในการทำความสะอาด
  • เลือกวัสดุดูแลง่าย – การเลือกวัสดุแต่งบ้าน นอกจากต้องคำนึงถึงความสวยงามแล้วต้องมีความสะดวกสบายในการดูแลรักษาด้วย เช่น พื้นใช้กระเบื้องเซรามิก เพราะดูแลรักษาได้ง่าย ผนังกระจกควรเคลือบสารเคลือบกระจกเพื่อช่วยลดคราบน้ำ โซฟาใช้วัสดุหนังแท้เพราะทำความสะอาดได้ง่ายกว่าผ้า เป็นต้น
  • การใช้พื้นที่แนวตั้ง – ออกแบบพื้นที่สำหรับ Built-in, ทำชั้นวางติดผนัง หรือเป็นตู้ลอย เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย และยังเป็นระเบียบ ประหยัดพื้นที่ได้อีกด้วย
  • ขจัดซอกหลืบ – การออกแบบบ้านที่ลดจำนวนซอกหลืบมีประโยชน์มาก เพราะจะทำให้บ้านดูสะอาดตา และง่ายต่อการดูแลรักษา

หลักการออกแบบบ้านที่นำเสนอเป็นแค่ข้อควรรู้ขั้นพื้นฐาน ผู้ที่สนใจสร้างบ้านควรศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากบ้านเป็นที่อยู่อาศัยนั้นสำคัญต่อการดำรงชีวิต ซึ่งหลักการเหล่านี้สามารถนำมาเป็นแนวทางในการสร้างบ้านของคุณได้ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงในเรื่องของงบประมาณ พื้นที่บ้าน วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ระยะเวลาในการก่อสร้าง ฯลฯ การออกแบบและวางแผนตกแต่งบ้าน จะช่วยลดภาระให้กับเจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยได้ โดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก และยังสะดวกสบายต่อการดูแลรักษาในระยะยาว รวมถึงการออกแบบให้ตรงตามความต้องการ และเหมาะสมกับเจ้าของบ้าน ก็จะยิ่งทำให้ได้บ้านที่ตรงใจ แต่หากเป็นบ้านที่มีความซับซ้อน หรืองานระบบเยอะๆ ก็ควรว่าจ้างหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการสร้างบ้านหรือสถาปนิกในการออกแบบเพิ่มเติม

Con Mueangsak

เขียนโดย Con Mueangsak

โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save