ซ่อมแซมบ้านเก่า ตรวจสุขภาพบ้านก่อนซ่อมป้องกันปัญหาบานปลาย
ซ่อมแซมบ้านเก่า เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนมักมองข้ามโดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่มักจะรอให้เกิดปัญหากับบ้านก่อนถึงจะเริ่มลงมือซ่อมแซม ซึ่งบางครั้งต้องรื้อและทำใหม่ทั้งหมด ทำให้เสียเวลาสิ้นเปลืองเงินทองไปโดยไม่จำเป็น ฉะนั้นถ้าไม่อยากให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมาเราจึงควรหมั่นตรวจสอบไว้ก่อนเสียแต่เนิ่นๆ หากพบว่าจุดไหนใกล้จะเกิดความเสียหายก็ควรรีบซ่อมแซมในทันที การซ่อมบ้านจึงควรเริ่มจากการสำรวจบ้านให้ทั่ว เพราะแต่ละความเสียหายจะมีระดับความเร่งด่วนในการซ่อมแซมแตกต่างกัน บางจุดต้องให้ความสำคัญก่อนเป็นอันดับแรก แต่บางจุดอาจจะไม่ต้องเร่งค่อยๆซ่อมแซมไปก็ได้ โดยมีหลักเกณฑ์ที่เราควรเริ่มตรวจสุขภาพบ้านดังนี้
1.โครงสร้าง จัดได้ว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ที่อยู่อาศัยภายในบ้าน เช่น ฐานรากอาคารทรุดตัว เสาบ้านเอียง คานหัก ผนังร้าว หรือหลังคารั่ว
2.งานตกแต่งภายในต่างๆ เช่น วงกบหน้าต่าง วงกบประตู ประตูเอียง ราวบันไดหัก ปาร์เก้ต์ลอย ฝ้าเพดานเปื่อย มีคราบน้ำ
3.ระบบเกี่ยวกับสุขาภิบาล เช่น ท่อระบายน้ำอุดตัน ส้วมเต็ม ท่อน้ำประปารั่ว
4.ระบบไฟฟ้า เช่น ไฟรั่ว ปลั๊กไฟเสื่อมสภาพ สวิตช์มีกระแสไฟฟ้า
คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านต่อได้เลย การตรวจรับบ้าน ให้เป๊ะ กับ วิธีตรวจรับงานหลังคายังไงไม่ให้พลาด
และก่อนที่จะเริ่มซ่อมแซมบ้านสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาด้วยคือเรื่องของทางด้านกฎหมาย เพราะการซ่อมแซมบางอย่างอาจจะต้องมีการขออนุญาติ หรือสามารถดำเนินการได้เองทันที อาทิเช่น
- การซ่อมแซมบ้านในลักษณะที่ไม่กระทบกับโครงสร้างบ้านหรืออาคาร ไม่อยู่ในข่ายของการดัดแปลงต่อเติมที่ต้องขออนุญาต เช่น การทาสีบ้าน ปูกระเบื้องใหม่ เปลี่ยนหน้าต่าง เจ้าของบ้านสามารถดำเนินการเปลี่ยนได้เอง
- การซ่อมแซมบ้านที่อยู่ในลักษณะดัดแปลง ต่อเติม จากโครงสร้างเดิม จะต้องขออนุญาตเพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายเงื่อนไขเรื่องการดัดแปลง ต่อเติม หรือไม่
- การซ่อมแซมที่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างทางฝ่ายวิศวกรรมอาคารจะต้องทำการขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยให้วิศวกรเข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบ
คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านต่อได้เลย ตรวจรับบ้าน ใหม่อย่างมืออาชีพ
หลายท่านอาจจะมีคำถามตามมาว่า เราควรที่จะซ่อมแซมบ้านเองหรือว่าจ้างมืออาชีพให้เข้ามาดำเนินการ ซึ่งถ้าเป็นการซ่อมแซมในระดับโครงสร้าง เช่น เสา คาน หลังคา รากฐาน ก็ควรให้ช่างที่มีความชำนาญเข้าจัดการจะดีกว่า แต่ถ้าเป็นงานซ่อมแซมย่อยๆ เช่นทาสีใหม่ เปลี่ยนลูกบิด ซ่อมบานพับ บานเกร็ด ก็สามารถที่จะทำด้วยตนเองได้ โดยการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้รู้หรือเว็บไซต์ต่างๆเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการซ่อมแซม อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญมากก็คือการแตกร้าวของผนังซึ่งระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ในการก่อสร้าง คือ ปูน อิฐ หิน ทราย น้ำ รวมทั้งสภาพอากาศในช่วงระหว่างก่อสร้างและปัญหาการทรุดตัวของพื้นดิน ทั้งนี้เราสามารถสังเกตการแตกร้าวของผนังในลักษณะต่างๆได้ ดังนี้
- เกิดจากปฎิกิริยาเคมีและฝีมือ จะมีลักษณะเป็นรอยแตกเล็กๆ จะพบได้ที่บริเวณผนังทั้งภายในและภายนอก รอยแตกเหล่านี้เกิดจากการปูนฉาบที่มีส่วนผสมไม่เหมาะสม เมื่อปูนเริ่มมีการแข็งตัวจะเกิดปฎิกิริยาทางเคมีเกิดความร้อนสูง ทำให้ถ่ายเทความร้อนไม่ได้จึงเกิดการแตกผิวหรือที่เรียกว่า “แตกลายงา” ซึ่งไม่ทำอันตรายต่อโครงสร้าง
- แตกร้าวที่เกิดจากการประสานตัวของผนังปูนกับวัสดุอื่นๆ จะเกิดขึ้นที่รอยต่อกับวงกบไม้ มีลักษณะเป็นรอยแตกเล็กๆออกมาจากทางวงกบในแนวทแยง แนวดิ่ง แนวนอน โดยมีสาเหตุมาจากอัตราการยืดหดตัวของวัสดุสองชนิดไม่เท่ากันประกอบกับผนังของอาคารภายนอกมีอุณภูมิสูงกว่าผนังด้านใน ทำให้การยืดหดตัวของผนังทั้งสองด้านเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน
ฉะนั้นจากปัญหาดังกล่าวเราจึงควรที่จะหาวิธีซ่อมแซมบ้านในเบื้องต้นเสียก่อนที่ช่างผู้ชำนาญการจะเข้ามาดูแลและซ่อมแซมอีกครั้ง
1.ฐานรากถูกน้ำกัดเซาะ ถ้าเกิดฐานรากถูกน้ำเซาะ แต่ยังคงอยู่ในสภาพปกติให้ทำการถมดินกลับคืนไป แต่ถ้าหากฐานรากมีการเอียง ทรุดตัว หรือแตกร้าวขึ้น ต้องให้วิศวกรมาตรวจสอบเพื่อจะได้แก้ไขซ่อมแซมอย่างถูกวิธี
2.เสา แตก หัก ร้าว กรณีที่เป็นเสาไม้ที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก อาจจะพอหาช่างมาแก้ไขได้ แต่ถ้าหากเป็นเสาคอนกรีต หรือเกิดรอยร้าวที่เป็นแนวเฉียงหรือรอยร้าวลึกจนกระทั่งเห็นเหล็กเส้นด้านใน คงต้องรีบติดตามวิศวกรเข้ามาตรวจสอบแก้ไขในทันที เนื่องจากเสาดังกล่าวอาจจะสูญเสียกำลังในการรับน้ำหนักส่งผลให้พังทลายลงมาได้
3.คานแตก ร้าว หัก ถ้าเป็นคานไม้เรามีวิธีสังเกตได้ไม่ยาก ยังพอที่จะหาไม้หรือเหล็กมาดามทดแทนได้ก่อน แต่ถ้าเป็นคานคอนกรีตมีรอยแตกร้าว โดยมีรอยแยกของรอยร้าวกว้างมากกว่า 0.5 มิลลิเมตร ควรต้องให้วิศวกรตรวจสอบแก้ไขจะปลอดภัยมากกว่า แต่ถ้ารอยแยกกว้างน้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร อาจต้องตรวจสอบดูว่ารอยร้าวที่เนื้อคอนกรีตโดยสกัดปูนฉาบออกมาดูว่ามีรอยร้าวที่เนื้อคอนกรีตหรือไม่ ซึ่งหากไม่พบรอยร้าวถือว่ายังปลอดภัย แค่ฉาบปูนตกแต่งปิดให้เรียบร้อยตามเดิมก็เพียงพอ
4.พื้นแตก ร้าว ทรุด สำหรับพื้นไม้แตกร้าวหรือหัก ก็แก้ไขด้วยการใช้ไม้พื้นขนาดเดียวกันถอดเปลี่ยนเข้าไปแทน ส่วนที่เป็นพื้นคอนกรีตชนิดวางลงบนดินทรุดตัว แตกร้าว ใช้วิธีรื้อพื้นนั้นออก แล้วผูกเหล็กเทพื้นคอนกรีตใหม่ แต่ถ้าเป็นพื้นคอนกรีตที่อยู่บนคานหรือมีโครงสร้างอื่นรองรับต้องให้วิศวกรเข้ามาดูแลเพราะจะส่งผลต่อโครงสร้างทั้งหมด
5.บันได ผุ หัก ร้าว หากว่าเป็นบันไดไม้ก็สามารถซื้อไม้ชนิดเดียวกันมาซ่อมแซมได้ แต่ถ้าเป็นบันไดเหล็กผุหรือหัก ต้องเรียกช่างเหล็กให้มาซ่อมเพราะเป็นงานเฉพาะทาง
จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องบ้านไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้นเจ้าของบ้านควรให้ความสำคัญและใส่ใจหมั่นตรวจสุขภาพบ้านอยู่เสมอค่ะ