ฉนวนกันเสียง ติดแล้วแต่ไม่ได้ผลเพราะอะไร มาดูกัน?
ฉนวนกันเสียง เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนกำลังนิยมติดกันเพราะหลายคนเมื่อลงทุนซื้อบ้านสักหลังไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว,ทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโดมิเนียมต่างก็คาดหวังว่าต้องการให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจหลังจากเหนื่อยล้าจากการทำงาน ฉะนั้นความเงียบสงบของบ้านทั้งภายในและภายนอกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งจะทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบาย แต่ในความเป็นจริงแล้วเจ้าของบ้านจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับเสียงรบกวนจากทั้งข้างบ้าน, เสียงดังจากถนนหน้าบ้าน หรือเสียงจอแจที่มาจากฝูงชน จนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสมาชิกภายในบ้าน เจ้าของบ้านส่วนใหญ่จึงมักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการซื้อฉนวนกันเสียงมาติดตั้งแทนเพราะเชื่อว่าจะสามารถช่วยกันเสียงรบกวนได้ แต่เมื่อพอมาติดตั้งแล้วเสียงรบกวนกลับไม่ลดลงอย่างที่ต้องการ เป็นเพราะสาเหตุใดเราลองมาดูพร้อมทั้งหาวิธีแก้ไขกันค่ะ
คุณอาจสนใจบทความที่ อ่านต่อได้เลย มุงหลังคา เคล็ดลับการเลือกวัสดุยีังไงให้เข้ากับบ้านหลายสไตล์
สาเหตุที่ีติดฉนวนกันเสียงแล้วไม่ได้ผล
วัสดุกันเสียงที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดมีอยู่หลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะสามารถกั้นเสียงไม่ให้ทะลุผ่านได้มากน้อยแตกต่างกัน แล้วแต่วัสดุที่นำมาใช้ประกอบ และการติดตั้งฉนวนกันเสียงก็จะยิ่งเพิ่มความสามารถในการกั้นเสียงให้กับวัสดุนั้นๆ อย่างไรก็ดี ถ้าเกิดว่าวัสดุนั้นดันมีรูหรือช่องที่ทะลุไปจนถึงอีกด้านก็จะกลายเป็นช่องทางให้เสียงลอดผ่านไปได้ง่าย ถ้าจะให้ลองยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่าคุณกำลังนั่งอยู่ในห้องที่มีผนังล้อมรอบแต่แง้มประตูเปิดไว้เล็กน้อย ส่วนด้านนอกห้องมีคนกำลังคุยกันอยู่ ฉะนั้นเสียงที่คุณได้ยินจะมาได้จาก 2 ช่องทางคือเสียงที่ “ทะลุผ่านผนัง” และ “ลอดผ่านช่องประตู” ซึ่งเมื่อเราติดฉนวนกันเสียงที่ผนังก็เท่ากับว่าจะช่วยลดความดังของเสียงที่ทะลุผ่านผนังเท่านั้น สำหรับเสียงที่ลอดผ่านช่องประตูก็ยังคงดังอยู่ตราบใดที่เราไม่ปิดประตูให้สนิทเสียก่อน ดังนั้นเราสามารถสรุปได้ง่ายๆว่าการจะกันเสียงให้มีประสิทธิภาพไม่ใช่แค่ติดฉนวนกันเสียงเพียงอย่างเดียว แต่ควรปิดช่องต่างๆให้มิดชิดเพิ่มเข้าไปด้วย
คุณอาจสนใจบทความที่ อ่านต่อได้เลย บานประตู เลือกใช้วัสดุแบบไหน
ติดฉนวนที่ผนังแล้ว แต่ยังคงมีเสียงดังจากแหล่งสัญจร?
หากบ้านของคุณอยู่ในทำเลที่มีเสียงรบกวนจากภายนอกมากๆ เช่น เสียงการจราจรที่จอแจ, เสียงเครื่องจักร, เสียงจากฝูงชนที่พลุกพล่าน, หรือแม้แต่ในห้องคอนโดมิเนียมซึ่งติดกับทางขึ้นลงบันได การเลือกติดตั้งฉนวนกันเสียงเข้ากับผนังด้านที่ใกล้เสียงรบกวนเพียงอย่างเดียวอาจช่วยกั้นเสียงได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก เพราะเสียงก็ยังคงเข้ามาได้อยู่ดี ควรเน้นเรื่องการป้องกันเสียงลอดที่มาจากรอยต่อด้วย โดยเฉพาะรอยต่อบริเวณประตูหน้าต่างด้วย ทางที่ดีเพื่อให้เห็นผลจึงควรเลือกประตูหน้าต่างแบบบานปิดตาย บานเปิด หรือบานกระทุ้งซึ่งจะมีรอยต่อน้อย สามารถช่วยอุดรอยรั่วรอบบานหน้าต่างเพื่อกันเสียงเล็ดลอดเข้ามาได้ดีกว่าหน้าต่างจำพวกบานเกล็ดหรือบานเลื่อน แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกันเสียงให้ดีมากขึ้น อาจเลือกใช้ประตูหน้าต่างที่มีการเชื่อมรอยต่อด้วยเนื้อวัสดุที่ดี มีระบบซีลที่แน่นหนาระหว่างกรอบหน้าต่างกับวงกบกับผนัง ปัจจุบันมีหน้าต่างบางรุ่นที่ออกแบบมาเพื่อเน้นการกันเสียงโดยการซ่อนฉนวนกันเสียงภายในวงกบและบานกรอบ สำหรับบ้านที่สร้างแล้วใช้ประตูหน้าต่างชุดเดิม ไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนประตูหน้าต่างใหม่ ก็ใช้วิธีหาซื้อเส้นขอบยางมาติดตามรอบวงกบประตูหน้าต่างแทน รวมทั้งช่องว่างใต้ประตู เพื่อให้สามารถปิดประตูหน้าต่างได้แนบสนิทมากขึ้นก็จะสามารถช่วยกันเสียงได้อีกชั้นหนึ่ง
ติดฉนวนที่ผนังแล้ว แต่ยังไม่พ้นเสียงรบกวนจากข้างห้อง
การอยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์, ทาวน์โฮม หรือคอนโดมิเนียมต่างก็หลีกเลี่ยงเสียงดังจากข้างบ้านที่อยู่ติดกันจำเป็นต้องใช้ผนังร่วมกันไม่ได้ การติดฉนวนกันเสียงที่ผนังเพียงอย่างเดียวอาจช่วยไม่ได้มากเท่าที่ควร ถ้าหากยังมีช่องทางว่างต่างๆก็จะทำให้เสียงลอดออกมาได้ง่าย เช่น ช่องว่างระหว่างผนังกับใต้ท้องพื้น หรือช่องปลั๊กไฟที่อยู่ตรงกันพอดี ซึ่งมีวิธีแก้ไขง่ายๆคือ
- ช่องว่างระหว่างบริเวณผนังกับใต้ท้องพื้นที่ : บ้านที่ใช้ผนังเดียวกันมักจะเกิดช่องว่างระหว่างผนังกับบริเวณท้องคานทำให้เสียงลอดผ่านถึงกันได้ วิธีแก้ไขควรต่อผนังขึ้นไปให้ชนติดใต้ท้องคานเพื่อป้องกันมิให้เสียงลอดถึงกัน
- ตำแหน่งปลั๊กไฟที่ชนกันพอดี : ห้องที่ใช้ผนังร่วมกันมักจะติดตั้งปลั๊กไฟที่ตรงกันเพื่อง่ายต่อการเดินสายไฟ จึงทำให้เสียงลอดผ่านถึงกันได้ไม่ยาก ซึ่งในส่วนของปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการอุดปิดช่องปลั๊กไฟเดิม และย้ายไปติดตั้งที่ตำแหน่งอื่นแทน แต่หากเป็นผนังชนิด Precast ไม่ควรเจาะผนังเพื่อติดตั้งปลั๊กไฟใหม่ ให้ใช้วิธีสร้างผนังเบาเพิ่มเข้าไปอีกชั้นเพราะการเจาะผนังอาจจะกระทบกับผนังรวมทั้งหมด
จากวิธีการที่ได้แนะนำมาในข้างต้นเจ้าของบ้านคงพอจะทราบวิธีการป้องกันเสียงรบกวนที่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเพียงแค่การติดตั้งฉนวนกันเสียง แต่ต้องอาศัยวิธีการปิดช่องรอยต่อต่างๆให้มิดชิด ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่เจ้าของบ้านต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ หากว่าเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าทั้งปิดช่องว่างรอยต่อต่างๆและติดฉนวนกันเสียงแล้วก็ยังต้องผจญกับเสียงรบกวนอยู่มาก อาจติดตั้งฉนวนกันเสียงเพิ่มเติมเข้าไปอีกที่ผนังหรือฝ้าเพดานในภายหลังเสริมไปด้วยก็ได้ค่ะ