บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ June 15, 2023

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเริ่มต้นสร้างบ้าน คือการคำนวณงบประมาณการสร้างบ้านหรือวิธีสร้างบ้านราคาประหยัด ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วก็ไม่สามารถรู้ราคาที่แท้จริงได้ชัดเจน เพราะรายละเอียดของวัสดุ ระบบ โครงสร้าง ปัญหาหน้างาน และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้บ้านแต่ละหลังราคาประเมินจึงไม่เท่ากัน แต่เราก็มีวิธีคำนวณงบก่อสร้างบ้าน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคำนวณค่าก่อสร้างคร่าว ๆ ที่จะช่วยให้คุณตั้งงบประมาณได้ง่ายขึ้นมาฝากกัน นอกจากนี้ยังมีข้อคิดเล็กๆน้อยๆสำหรับคนที่อยากสร้างบ้านเองให้เป็นตัวเลือกเพื่อประหยัดงบประมาณมากขึ้นไปได้อีก


วิธีคำนวณงบก่อสร้างบ้าน ทำอย่างไร

1_วิธีคำนวณงบก่อสร้างบ้าน มือใหม่ก็ทำเองได้ง่าย ๆ

1. รู้ความต้องการของตัวเอง

สำหรับวิธีคำนวณงบก่อสร้างบ้าน สิ่งแรกที่เราควรรู้คือ ต้องรู้ความต้องการของตัวเอง บ้านในฝันมีสมาชิกจำนวนกี่คน คุณต้องการห้องนอนทั้งหมดกี่ห้อง มีห้องน้ำภายในห้องนอนกี่ห้อง คุณชอบทำอาหารแค่ไหน ต้องมีกิจกรรมอะไรในชีวิตประจำวันบ้าง เราต้องชี้แจงรายละเอียดความต้องการของตัวเราเอง ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่เราควรรู้ก่อนหาบ้านที่ถูกใจ เพราะแบบบ้านที่ชอบ ฟังก์ชันอาจจะไม่ตรงกับที่เราต้องการใช้งานจริง ๆ

2. คำนวณจำนวนห้องและพื้นที่ใช้สอย

เมื่อรู้ความต้องการแล้วก็นำมาแบ่งฟังก์ชันบ้านคร่าว ๆ เช่น ต้องการให้มี 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ 1 ห้องทำงาน 1 ห้องครัวขนาดใหญ่ และ 2 ที่จอดรถ จากนั้นนำห้องต่าง ๆ ไปคำนวณพื้นที่เป็นตร.ม. จะได้ดังนี้

  • ห้องนอน 3 ห้อง 3×3 เมตร = 9 ตร.ม คูณไป 3 ห้องได้ 27 ตร.ม.
  • ห้องน้ำ 3 ห้อง 2×2 เมตร = 4 ตร.ม คูณไป 3 ห้องได้ 12 ตร.ม.
  • 1 ห้องทำงาน 5×4 = 20 ตร.ม.
  • 1 ห้องครัว 3×5 = 15 ตร.ม.
  • 2 ที่จอดรถ 5×6 = 30 ตร.ม.

รวม 104 ตร.ม. และบวกพื้นที่ในบ้านอื่น ๆ ไปอีก 30 – 50% เท่ากับ 135.2 – 156 ตร.ม.


การคิดค่าก่อสร้าง มีหลักการอย่างไร

2_วิธีคำนวณงบก่อสร้างบ้าน มือใหม่ก็ทำเองได้ง่าย ๆ

การคำนวณต้นทุนการก่อสร้างทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับผู้รับเหมาและเจ้าของบ้าน โดยสิ่งสำคัญก็คือการเลือก บริษัทรับสร้างบ้าน หรือ ผู้รับเหมา เพราะท้ายสุดก็ขึ้นอยู่กับการตกลงราคากันว่าจะจ้างที่ราคาไหน เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการคำนวณราคา โดยเราขอนำเสนอวิธีการคำนวณต้นทุนการก่อสร้างเบื้องต้นสำหรับคิดค่าออกแบบและก่อสร้างดังที่ต้องการ เพื่อความเหมาะสมกับที่ดิน รวมถึงความต้องการของผู้สร้างบ้าน ซึ่งกล่าวอย่างคร่าว ๆ ได้ดังนี้

  • ต้องดูรูปที่ดินก่อนว่าที่ดินมีรูปร่างแบบไหน เช่น สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมคางหมู เป็นต้น
  • เมื่อรู้ขนาดที่ดินแล้วว่าหน้ากว้างติดถนนนั้นลึกจากถนนเท่าไร ก็นำไปสู่ขั้นตอนต่อไปได้เลย
  • ส่วนมากการก่อสร้างจะคิดราคาเหมาเป็นตารางเมตร

กฎหมายเกี่ยวกับการก่อสร้างกันคร่าว ๆ

3_วิธีคำนวณงบก่อสร้างบ้าน มือใหม่ก็ทำเองได้ง่าย ๆ

อาคารที่ติดทางสาธารณะ: ต้องมีระยะร่นตามที่กำหนดโดยกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ กำหนดไว้ที่ 2 เมตร จากเขตที่ดิน เว้นแต่ว่าทางเดินในเขตทางหลวง จะต้องเว้นระยะตามความต้องการจากเขตทางหลวง 6 เมตร และถ้าเป็นอาคารประเภทอื่น ตัวอย่างเช่น อาคารพาณิชย์ ห้องแถว จะมีข้อกำหนดที่ไม่เหมือนกัน ในที่นี้จะพูดถึงบ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น นอกจากนี้รั้วยังถือเป็นสิ่งก่อสร้างชนิดหนึ่งอีกด้วย ซึ่งนำมาใช้สำหรับการเป็นทางเท้าสาธารณะ เป็นเส้นทางวางท่อสาธารณูปโภคต่าง ๆ จึงห้ามมีสิ่งกีดขวางบนทางเท้าแต่ได้รับอนุญาตให้ขยายได้ไม่เกินแนวเขตที่ดิน และต้องสูงจากทางเท้าอย่างน้อย 3.25 ม.

อาคารพักอาศัยต้องมีพื้นที่ 30% ของพื้นที่ดิน: คือ สร้างอาคารได้ไม่เกินกว่า 70% ของพื้นที่ดิน สามารถสร้างอาคารชิดพื้นที่ได้ ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ติดกับแนวเขต หากไม่ยินยอมต้องถอยห่างจากแนวเขตที่ดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร ถ้าต้องมีช่องเปิดสู่แนวเขตที่ดินข้างเคียง อาคารต้องสูงกว่า 9 เมตร แต่ไม่มากกว่า 23 เมตร ต้องร่น 3 เมตร ตามข้อกำหนดแต่ละท้องที่ สามารถทำให้ระยะช่องเปิดน้อยกว่าระยะที่กำหนด

กฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ: เช่น ทางเดินภายใน การระบายอากาศ ความกว้างและความสูงของบันได ขนาดห้องนอนต้องมีพื้นที่อย่างต่ำคือ 8 ตารางเมตร และกว้างไม่น้อยกว่า 2.50 เมตร เมื่อวางแนวเขตอาคารตามกฎหมายแล้วจะได้พื้นที่ 98 ตร.ม. โดยประมาณ เว้นระยะ 50 ซม.


ราคาประเมินก่อสร้างบ้านและอาคาร

หัวข้อนี้จะเป็นการยกตัวอย่างค่าก่อสร้างในปีหนึ่งซึ่งจะคิดเป็นตารางเมตร โดยสามารถกล่าวได้ดังต่อไปนี้

  • บ้านชั้นเดียวแบบไม้ ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 9,900 บาท ขั้นกลางอยู่ที่ 11,400 บาท และขั้นสูงอยู่ที่ 12,800 บาท
  • บ้านสองชั้นแบบไม้ ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 8,500 บาท ขั้นกลางอยู่ที่ 10,800 บาท และขั้นสูงอยู่ที่ 12,400 บาท
  • บ้านใต้ถุนสูงแบบไม้ ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 12,400 บาท ขั้นกลางอยู่ที่ 13,000 บาท และขั้นสูงอยู่ที่ 14,500 บาท
  • บ้านครึ่งไม้ครึ่งตึก ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 8,200 บาท ขั้นกลางอยู่ที่ 10,000 บาท และขั้นสูงอยู่ที่ 11,300 บาท
  • บ้านตึกเดี่ยว ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 11,000 บาท ขั้นกลางอยู่ที่ 12,500 บาท และขั้นสูงอยู่ที่ 14,400 บาท

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างของราคาค่าก่อสร้างบ้านแบบต่าง ๆ ซึ่งก็ยังมีแบบบ้านอื่นอีกมากมายให้เลือก สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์สร้างบ้านที่เชื่อถือได้


ความแตกต่างของมูลค่าของวัสดุในแต่ละระดับ

4_วิธีคำนวณงบก่อสร้างบ้าน มือใหม่ก็ทำเองได้ง่าย ๆ

คุณอาจสงสัยเช่นกันว่าวัสดุแต่ละระดับต่างกันอย่างไร เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท เพราะจะมีมาตรฐานและข้อกำหนดที่แตกต่างกัน จึงได้ยกตัวอย่างวัสดุบางส่วนให้ผู้อ่านจินตนาการได้มากขึ้น ในตัวอย่างนี้ เป็นข้อกำหนดมาตรฐานของแบรนด์หนึ่ง หากผู้อ่านเลือกใช้บริการของบริษัทใด ต้องตรวจสอบกับบริษัทนั้นอีกครั้ง

วัสดุปูพื้น

  • บ้านทั่วไป พื้นกระเบื้อง
  • ระดับกลาง แกรนิต
  • พรีเมี่ยม พื้นไม้ลามิเนต หรืออื่น ๆ ที่สูงกว่า

วัสดุหลังคา

  • บ้านทั่วไป หลังคาโมเนีย
  • ระดับกลาง เพรสทีจ
  • ระดับพรีเมี่ยม รูปแบบใหม่ (หลังคาซีแพค) เมทัลชีท ถูกกว่าวัสดุอื่น

สีทาบ้าน

  • บ้านปกติทั่วไป TOA 4 Season
  • ระดับกลาง TOA Shield 1
  • ระดับพรีเมียม TOA Shield

ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างสเปกบ้าน แต่ละบริษัทอาจเลือกยี่ห้อวัสดุที่แตกต่างกัน และแต่ละยี่ห้อก็มีหลายเกรดให้เลือก จากบทความนี้ผู้อ่านจะพบว่าวิธีคำนวณงบก่อสร้างบ้าน จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่ออยู่อาศัยหรือการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีส่วนที่จะช่วยในการคำนวณค่าก่อสร้าง

สิ่งอื่นที่ต้องคำนึงถึงเมื่อต้องการลดงบประมาณในการสร้างบ้าน

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อพูดถึงเรื่องงบประมาณการสร้างบ้านราคาประหยัด อย่างเช่นการสร้างบ้านอย่างไรให้ประหยัดคุ้มงบประมาณ และ วิธีการสร้างบ้านเองเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง อ่านรายละเอียดด้านล่าง


7 ข้อควรรู้ในการสร้างบ้านราคาประหยัด

นอกจากข้อมูลด้านบนที่ช่วยในเรื่องประหยัดงบการสร้างบ้านแล้ว ต่อไปนี้เป็น 7 วิธีสร้างบ้านในราคาประหยัดสำหรับคนที่อยากคุมงบประมาณในการสร้างบ้าน

1. ปรับพื้นที่ดิน

การปรับพื้นเพื่อวางรากฐานที่สำคัญของบ้านเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนการปลูกสร้างบ้าน เพื่อป้องกันการทรุดตัวหรือพังลงมาในอนาคต โดยควรวางโครงเหล็กและตอกเสาเข็มให้มั่นคงก่อนที่จะเริ่มเทพื้น

2.วางแผนก่อนที่จะเริ่มก่อสร้าง

ก่อนก่อสร้างบ้านควรวางแผนและคำนวนต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่จำเป็นโดยการว่าจ้างสถาปนิกหรือนักออกแบบภายใน และเมื่อวางแผนการปลูกสร้างบ้านเรียบร้อยแล้ว ก็ควรตัดบางส่วนที่ไม่สำคัญออกจากงานออกแบบเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทาง

3. เลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมกับการใช้งานจริง

การใช้วัสดุก่อสร้างท้องถิ่นหรือวัสดุที่มีการสังเคราะห์ขึ้น เช่น ไม้เทียม แผ่นปูนเทียม ช่วยลดค่าวัสดุ และควรปรับเปลี่ยนวัสดุที่มีราคาแพงหันมาใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงแทน เช่น หินขัดมัน ปูนคอนกรีต ลองปรับมาเป็นอิฐแทน ซึ่งก็ให้ความคงทนแข็งแรงเช่นเดียวกัน

4. บ้านสำเร็จรูป

บ้านสำเร็จรูปเป็นทางเลือกที่สะดวกสบายและลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง โดยใช้วัสดุไม่แพงมาก เช่น พลาสติกแข็ง ไม้เทียม อิฐมวลเบา และเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ไม่ชอบความยุ่งยาก วุ่นวายในการสั่งบ้านสำเร็จรูปมาติดตั้งก็จะช่วยตอบโจทย์คุณได้เป็นอย่างดี

5. ออกแบบโครงสร้างให้ใช้ประโยชน์ได้ครอบคลุม

การออกแบบโครงสร้างบ้านให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ สามารถใช้ประโยชน์จากตัวบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ใช้ช่องว่างระหว่างเสาเพื่อทำเป็นชั้นว่างหรือมุมนั่งเล่น และประยุกต์พื้นที่ใต้บันไดให้กลายเป็นห้องเก็บของ เพื่อประหยัดค่าเฟอร์นิเจอร์และพลังงานจากธรรมชาติได้เยอะเลยทีเดียว

6. ออกแบบผนังและเพดานให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ในการสร้างบ้านควรศึกษาแปลนบ้านให้ละเอียดเพื่อเลือกใช้พื้นผนังและเพดานให้เหมาะสม โดยใช้พื้นไม้เพื่อโชว์สัดส่วนความสวยงามของบ้าน และใช้กระเบื้องและอิฐเพื่อลดต้นทุนแต่ยังคงความแข็งแรง การจัดการและแบ่งความสำคัญของพื้นที่แต่ละส่วนจะช่วยลดงบประมาณในการก่อสร้างบ้านได้เช่นกัน

7. ตกแต่งเฉพาะในส่วนที่จำเป็น

การตกแต่งภายในควรมุ่งเน้นความเรียบง่ายเพื่อลดต้นทุน ตัวอย่างเช่นการนำสุขภัณฑ์มาจัดวางเรียงกันอย่างสมสัดส่วนในห้องน้ำ และการเลือกพื้นหรือผนังด้วยกระเบื้องเซรามิกสีสันสดใสสว่างและมีความสวยงามกลมกลืนกัน จะช่วยทำให้ห้องน้ำดูสว่างยิ่งขึ้น


4 ทางเลือกเพื่อประหยัดงบประมาณสำหรับคนอยากสร้างบ้านด้วยตัวเอง

การสร้างบ้านโดยคุมงานเองเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากแต่อาจต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้พอสมควร ซึ่งขั้นตอนการสร้างบ้านเองนั้นเป็นอย่างไรอ่านรายละเอียดด้านล่าง

1.ขั้นตอนในการออกแบบบ้าน

สถาปนิกมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมข้อมูลและออกแบบบ้านให้ตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้านมากที่สุด นอกจากนั้นยังช่วยประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น วิศวกร และนักออกแบบต่างๆ รวมถึงช่วยประมาณงบประมาณก่อสร้างให้ตรงกับงบประมาณของเจ้าของบ้านด้วย

2.ขั้นตอนการขออนุญาตปลูกสร้างบ้าน

เจ้าของบ้านสามารถยื่นขออนุญาตได้เองหรือมอบหมายให้สถาปนิกไปยื่นขอแทน แต่ถ้าต้องการแก้ไขแบบ สถาปนิกจะช่วยประสานงานแก้ไขให้เร็วกว่า และเจ้าของบ้านจะไม่ต้องนำกลับมาให้แก้ใหม่ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและเงินในการดำเนินการ

3.ขั้นตอนการก่อสร้างบ้าน

การคัดเลือกบริษัทรับสร้างบ้านหรือผู้รับเหมาควรดูจากคุณภาพงานที่ผ่านมา ฝีมือ การเก็บรายละเอียด และความรับผิดชอบต้องไม่เคยมีประวัติในการทิ้งงานเด็ดขาด สถาปนิกอาจช่วยคัดเลือกได้ดีกว่า และหลักการเลือกคนที่จะมาสร้างบ้านควรดูจากคุณภาพงานที่ผ่านมาและความรับผิดชอบ

4.ขั้นตอนสร้างบ้านแล้วเสร็จ จนถึงรับมอบบ้าน

เจ้าของบ้านควรเชิญสถาปนิกมาช่วยตรวจสอบบ้านก่อนรับมอบบ้าน หรือจะใช้บริการจากบริษัทรับตรวจบ้านก็ได้ เพื่อตรวจหาจุดบกพร่องและติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ถูกต้อง ส่วนการขอติดตั้งมิเตอร์น้ำ-ไฟ ควรดำเนินการตั้งแต่ช่วงก่อสร้างบ้านใหม่ๆ เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว


ในการสร้างบ้านนั้นเรื่องงบประมาณเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆที่ต้องคำนึงถึง เพราะฉะนั้นควรศึกษาให้ดีในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็น กฎหมายการสร้างบ้าน, ราคาค่าวัสดุ, ราคาค่าจ้างผู้รับเหมา, ราคาประเมินต่อตารางเมตร และนอกจากนั้นยังต้องศึกษาวิธีสร้างบ้านอย่างไรให้ประหยัดงบประมาณที่สุดและมีคุณภาพมากที่สุด นอกจากนั้นการเลือกที่จะสร้างบ้านโดยไม่ใช้ผู้รับเหมาและคุมงานเองยังเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่สามารถประหยัดเงินในกระเป๋าของคุณได้เป็นอย่างดี

เขียนโดย Con Mueangsak

โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon